บาลีวันละคำ

เกยุรา – เกยูร (บาลีวันละคำ 1,957)

เกยุราเกยูร

คนละคำเดียวกัน

อ่านว่า เก-ยุ-รา / เก-ยูน

คำว่า “เกยุรา” ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ในคัมภีร์บาลีก็ไม่มีศัพท์ว่า “เกยุรา” แต่มีศัพท์ “เกยูร

เกยูร” บาลีอ่านว่า เก-ยู-ระ รากศัพท์มาจาก เก (ธาตุ = ส่งเสียง) + อูร ปัจจัย, ลง อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (เก + + อูร)

: เก + + อูร = เกยูร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องประดับที่ส่งเสียงได้

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “เกยูร” ว่า พาหุรัด, กำไลต้นแขน, กำไล, สร้อย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เกยูร” ว่า a bracelet, bangle (กำไลมือ, กำไลต้นแขน)

ในบาลีบางแห่ง ศัพท์ว่า “เกยูร” ใช้เป็น “กายูร” (กา-ยู-ระ) และ “กายุร” (กา-ยุ-ระ) ก็มี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กายูร” ว่า

(1) an ornamental bracket or ring worn on the upper arm or neck (กำไลซึ่งใส่ที่แขนช่วงบนหรือที่คอ)

(2) a bracelet or necklace (สร้อยข้อมือหรือสร้อยคอ)

บาลี “เกยูร” สันสกฤตก็เป็น “เกยูร” เช่นกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

เกยูร : (คำนาม) ‘เกยูร,’ กำไลต้นแขน; a bracelet worn on the upper arm.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกยูร : (คำแบบ) (คำนาม) สร้อยอ่อน, สายสร้อย, ทองต้นแขน, กําไล. (ป., ส.).”

…………..

อภิปราย :

คำแปล “เกยูร” คำหนึ่งคือ ““ทองต้นแขน””

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ทองต้นแขน” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

ทองต้นแขน : (คำนาม) เครื่องประดับชนิดหนึ่ง สวมรัดต้นแขน, พาหุรัด ก็ว่า.”

ตามไปดูที่คำว่า “พาหุรัด” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

พาหุรัด : (คำนาม) เครื่องประดับชนิดหนึ่ง สวมรัดต้นแขน, ทองต้นแขน ก็เรียก.”

เป็นอันว่า “เกยูร” คือ“ทองต้นแขน” และ “พาหุรัด” ก็คือ“ทองต้นแขน” เพราะฉะนั้น “เกยูร” กับ “พาหุรัด” ก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน คือ “ทองต้นแขน”

ส่วนคำว่า “เกยุรา” นั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นคำเดียวกับ “เกยูร” นั่นเอง แต่น่าจะใช้ในฐานะเป็นชื่อเฉพาะ ซึ่งอาจเขียนแปลกไปจากคำเดิมตามเจตนาของผู้ตั้ง เช่นนามสกุล “เกยุราพันธุ์” เป็นต้น ชื่อเฉพาะเช่นนี้ถ้ารู้เหตุผลหรือความเป็นมาก็จะช่วยให้เข้าใจได้ว่าทำไมจึงสะกดเช่นนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีกำไลทองคำประดับแขน

: มีแหวนเพชรประดับก้อย

: ความงามก็ยังด้อยกว่ามีบุญประดับใจ

—————–

(ตามคำขอของ Surawut Samphant)

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (1,957)

18-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย