บาลีวันละคำ

พลาหาร (บาลีวันละคำ 2,107)

พลาหาร

คำนี้ไม่มี, อย่าจำไปพูดผิดเขียนผิด

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่าน “ประกาศสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2561” ซึ่งอ้างว่าออกมาจากกระทรวงวัฒนธรรม มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………..

“เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชี่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหารจะบริบูรณ์”

…………..

คำว่า “พลาหาร” ตรวจดูจากสื่อหลายสำนักก็สะกดอย่างนี้

โปรดทราบว่า ในข้อความที่เรียกว่า “ประกาศสงกรานต์” นั้น คำว่า “พลาหาร” ไม่มี มีแต่คำว่า “ผลาหาร

พลาหาร” (ล- พ พาน) เป็นคำที่พูดผิด เขียนผิด

คำที่ถูกต้องคือ “ผลาหาร” (ล- ผ ผึ้ง)

คำในชุดนี้ปกติจะมี 3 คำ คือ ธัญญาหาร ผลาหาร มัจฉมังสาหาร

(๑) ธัญญาหาร (ทัน-ยา-หาน)

บาลีเป็น “ธญฺญาหาร” (ทัน-ยา-หา-ระ) แยกศัพท์เป็น ธญฺญ (ข้าว, ข้าวเปลือก) + อาหาร (ของกิน) = ธญฺญาหาร แปลตามศัพท์ว่า “อาหารคือข้าว” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธัญญาหาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธัญญาหาร : (คำนาม) อาหารคือข้าว. (ป.).”

ธัญญาหาร” นั้น นอกจากข้าวแล้ว น่าจะหมายรวมทั้งเมล็ดพืชและพืชผักทั้งหลายที่นำมาปรุงเป็นอาหาร (หนักไปทางของคาว)

(๒) ผลาหาร (ผะ-ลา-หาน)

บาลีเป็น “ผลาหาร” (ผะ-ลา-หา-ระ) แยกศัพท์เป็น ผล (ลูกไม้, ผลไม้) + อาหาร (ของกิน) = ผลาหาร แปลตามศัพท์ว่า “อาหารคือผลไม้” ในภาษาไทยสะกดตรงตามบาลีเป็น “ผลาหาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ผลาหาร : (คำนาม) อาหารคือลูกไม้.”

ผลาหาร” นั้นก็คือที่เรารู้จักกันดีว่า “ผลไม้” นอกจากผลแล้วน่าจะหมายรวมทั้งส่วนต่างๆ เช่น ใบ ดอก ราก หัว ที่นำมาปรุงเป็นอาหาร (หนักไปทางของหวาน)

(๓) มัจฉมังสาหาร (มัด-ฉะ-มัง-สา-หาน)

บาลีเป็น “มจฺฉมํสาหาร” (มัด-ฉะ-มัง-สา-หา-ระ) แยกศัพท์เป็น มจฺฉ (ปลา) + มํส (เนื้อ, เนื้อสัตว์ทั่วไป) + อาหาร (ของกิน) = มจฺฉมํสาหาร แปลตามศัพท์ว่า “อาหารคือปลาและเนื้อ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มัจฉมังสาหาร

คำว่า “มจฺฉมํส” (มัด-ฉะ-มัง-สะ) มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ คำนี้แปลว่า “ปลาและเนื้อ” ไม่ใช่แปลว่า “เนื้อของปลา

มจฺฉมํส” เป็นตัวอย่างของอาหารประเภท “เนื้อสัตว์” กล่าวคือยกเอา “มจฺฉ” = ปลา และ “มํส” = เนื้อ ขึ้นเป็นตัวอย่างเพราะเห็นง่าย หาง่าย อยู่ใกล้ตัว เมื่อพูดว่า “มัจฉมังสาหาร” ก็เป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงเนื้อสัตว์ทุกอย่าง ไม่เฉพาะปลาและเนื้อ

คำว่า “มัจฉมังสาหาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปราย :

โปรดสังเกตด้วยว่า คำว่า “ผลาหาร” (ผล- ผ ผึ้ง) มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ แต่คำว่า “พลาหาร” (ล- พ พาน) ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

แต่การที่ดำใดคำหนึ่งไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ก็ยังไม่ใช่เครื่องรับรองว่าคำนั้นผิดหรือใช้ไม่ได้ เหตุผลแท้จริงที่ยืนยันว่า “พลาหาร” (ล- พ พาน) ไม่ใช่คำที่ถูกต้องก็คือ คำในชุดนี้กล่าวถึงสิ่งที่มนุษย์กินเป็นอาหารซึ่งจัดเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่มคือ พืช และเนื้อสัตว์

ธัญญาหาร” และ “ผลาหาร” (ผล- ผ ผึ้ง) เป็นอาหารในกลุ่มพืช

มัจฉมังสาหาร” เป็นอาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์

พลาหาร” (ล- พ พาน) ถ้าจะบังคับให้แปล ก็แปลได้ว่า “อาหารคือกำลัง” ไม่ได้ส่อแสดงชัดเจนว่าอาหารชนิดนี้คืออะไร จึงไม่ใช่คำที่ถูกต้อง

คำว่า “พลาหาร” (ล- พ พาน) เกิดมาจากคนพูดคำว่า “ผลาหาร” (ผล- ผ ผึ้ง) ออกเสียงเพี้ยนเป็น พะ-ลา-หาน (พะ- พ พาน) คนฟังก็เข้าใจผิดว่าเป็น “พลาหาร” (ล- พ พาน) จึงเขียนผิดเป็น “พลาหาร

พื้นฐานของความผิดเกิดจากการไม่ศึกษาให้รอบคอบ โดยเฉพาะก็คือไม่สืบค้นคติเดิมของเรื่อง หากแต่เอาความเข้าใจของตนเป็นที่ตั้ง

คำผิดทำนองเดียวกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็อย่างเช่น –

“คาหนังคาเขา” กับ “คาหลังคาเขา”

“ติดหลังแห” กับ “ติดร่างแห”

“เส้นผ่าศูนย์กลาง” กับ “เส้นผ่านศูนย์กลาง”

คำเหล่านี้ถูกอธิบายให้ผิดกลายเป็นถูกไปหมดแล้ว จนบอกไม่ได้ว่าคำไหนผิดคำไหนถูก แต่กลายเป็นถูกทั้งคู่

เหตุทั้งนี้ก็เพราะเมื่อเกิดคำผิดขึ้นทีแรก ไม่มีใครทักท้วงเหนี่ยวรั้งกันไว้ คนใช้ผิดก็ไม่ศึกษาคติเดิมให้เข้าใจ เอาความเข้าใจอย่างใหม่ของตัวเองเข้าไปอธิบายผิดให้เป็นถูก

คำว่า “พลาหาร” (ล- พ พาน) นี้ก็เช่นกัน ถ้าไม่ทักท้วงกันไว้ เดี๋ยวก็จะมีนักรู้ออกมาอธิบายว่า “พลาหาร” (ล- พ พาน) หมายถึงอาหารบำรุงกำลัง คืออาหารเสริมต่างๆ ที่กินแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง

คนรุ่นใหม่ซึ่งมีความโน้มเอียงที่จะคิดเองเข้าใจเองโดยไม่ศึกษาคติเดิมในวัฒนธรรมของตนก็จะพากันเห็นคล้อยตาม แล้วผิดก็จะกลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วัฒนธรรมของชาติวิปริต

: ถ้าปล่อยให้ผิดกลายเป็นถูก

#บาลีวันละคำ (2,107)

20-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย