ถวายพระเพลิงพระบรมศพ (บาลีวันละคำ 1,965)
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
บาลีว่าอย่างไร
ลองแปลคำว่า “ถวายพระเพลิง” แบบไทยๆ
“ถวาย” คือให้ ตรงกับคำบาลีว่า “ทาน”
“พระเพลิง” คือไฟ ตรงกับคำบาลีว่า “อคฺคิ”
เอาคำว่า “ทาน” กับ “อคฺคิ” มาต่อกันเข้าตามสูตรบาลีที่แปลจากหลังมาหน้า ก็ต้องเป็น “อคฺคิทาน” แปลว่า “การให้ไฟ”
ให้ = ถวาย
ไฟ = พระเพลิง
เพราะฉะนั้น “ให้ไฟ” = ถวายพระเพลิง > อคฺคิทาน
ในภาษาบาลีมีสำนวน “อคฺคึ ทตฺวา” (ให้แล้วซึ่งไฟ) แปลงรูปเป็นคำนามเป็น “อคฺคิทาน” (อัก-คิ-ทา-นะ) แปลว่า “การให้ไฟ” หมายถึง มีฟืนหรือเชื้อไฟอยู่พร้อมแล้ว จึงจุดไฟเข้าที่ฟืนหรือเชื้อไฟนั้น ตรงกับคำที่เราพูดกันว่า ก่อไฟ ติดไฟ หรือจุดไฟ
“อคฺคิทาน” มีความหมายเพียงแค่ “ทำให้ไฟติดขึ้น” เท่านั้น ส่วนจะติดไฟเพื่อทำอะไรหรือเพื่อเผาอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในภาษาบาลี ถ้าพูดถึง การเผาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะใช้คำว่า “ฌาปน”
“ฌาปน” อ่านว่า ชา-ปะ-นะ รากศัพท์มาจาก ฌาปฺ (ธาตุ = เผา, ไหม้, เร่าร้อน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฌาปฺ + ยุ > อน = ฌาปน แปลตามศัพท์ว่า “การเผา” หมายถึง การจุดไฟ, การเผา (setting fire to, consumption by fire)
โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษ จะเห็นว่า “ฌาปน” นั้นรวมเอาการก่อไฟ คือ “อคฺคิทาน” เข้าไว้ด้วยพร้อมเสร็จ หมายความว่าเมื่อพูดว่า “เผา” ก็คือต้องมีไฟอยู่แล้วนั่นเอง
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฌาปน– : (คำนาม) การเผาศพ, การปลงศพ. (ป.).”
“ฌาปน” ในบาลีหมายถึง “การเผา” ทั่วไป ไม่ได้จำกัดว่าเผาอะไร แต่ในภาษาไทย “ฌาปน” ใช้ในความหมายเฉพาะคือเผาศพ
ในภาษาบาลี “ฌาปน” แปลว่า การเผา ถ้าจะให้หมายถึงการเผาศพ จะต้องเติมคำว่า “สรีร” (สะ-รี-ระ, = ร่างกาย) เข้าข้างหน้าเป็น “สรีรชฺฌาปน” (สะ-รี-รัด-ชา-ปะ-นะ) แปลว่า “การเผาสรีระ” ถ้าอย่างนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นการเผาศพ
ในภาษาบาลี ไม่ว่าจะเป็นศพของคนชั้นไหนก็ใช้คำว่า “สรีรชฺฌาปน” เหมือนกันหมด แม้แต่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า ในคัมภีร์ก็ใช้คำว่า “สรีรชฺฌาปน” คำเดียวกัน
“สรีรชฺฌาปน” ตรงกับคำที่พูดว่า “ถวายพระเพลิงพระบรมศพ”
…………..
อภิปราย :
มีผู้ตั้งประเด็นว่า ไม่ควรพูดว่า “ถวายดอกไม้จันทน์” แต่ควรใช้คำว่า “วางดอกไม้จันทน์ถวาย”
ข้อที่ควรเข้าใจก็คือ ธรรมเนียมการศพของไทยเราใช้วิธีเผา คนโบราณไปช่วยงานเผาศพจะแบกฟืนไปด้วย คือเอาฟืนไปเผาศพกันจริงๆ และการเผาศพสมัยก่อนก็ใช้ฟืนเผาจริงๆ ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กวัดยังทันเห็นคนสมัยเก่าถือฟืนไปงานเผาศพ คำว่า ไปเผาศพ หรือไปจุดศพ ก็ยังมีคนพูดกันติดปากอยู่
ต่อมา เมื่อวิธีเผาศพพัฒนาขึ้น ไม่ต้องใช้พืน คนไปงานศพก็เปลี่ยนจากฟืนมาเป็นถือธูปไปเผาศพ โดยเจตนาให้ธูปแทนฟืนนั่นเอง ปัจจุบันบางพื้นที่ในจังหวัดราชบุรีคนไปเผาศพยังนิยมถือธูปไปจากบ้านด้วย
ต่อมา จึงเกิดมีความนิยมทำดอกไม้จันทน์แทนธูป โปรดสังเกตว่าตัวดอกไม้จันทน์ก็ยังมีธูปเทียน แต่ย่อส่วนเป็นธูปเทียนเล็กจิ๋วจนแทบไม่รู้สึกว่ามีธูปเทียนอยู่ด้วย เห็นแต่ดอกไม้จันทน์เป็นจุดเด่น
จากฟืนจริง กลายมาเป็นธูป
จากธูป กลายมาเป็นดอกไม้จันทน์
ปัจจุบันเมื่อขึ้นไป “เผาศพ” บนเมรุ ก็ไม่ได้เห็นไฟที่กำลังเผาศพจริง เป็นแต่เอาดอกไม้จันทน์ไปวางใต้หีบศพเป็นกิริยา “เผาศพ” (ถ้าจะเห็นไฟเผาศพจริงก็ต้องเป็นเวลาที่เรียกกันว่า “เผาจริง” ซึ่งนิยมทำเฉพาะในหมู่วงศ์ญาติ)
คนสมัยใหม่จับเอากิริยาที่เอาดอกไม้จันทน์ไปวางนั่นเองมาเป็นหลักคิด เกิดเป็นคำว่า “ถวายดอกไม้จันทน์” หรือ “วางดอกไม้จันทน์ถวาย”
ถ้าคิดเพียงแค่นั้น ก็อาจจะพลาดจากธรรมเนียมไทยที่นิยม “เผาศพ” เพราะความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะ “ถวายดอกไม้จันทน์” หรือ “วางดอกไม้จันทน์ถวาย” ก็ต้องตั้งเจตนาไว้ที่ “เผาศพ” ไม่ใช่ “ถวาย” หรือ “วาง” ไว้เฉยๆ เป็นเครื่องระลึกถึงเหมือนธรรมเนียมของบางชาติเช่นฝรั่งเป็นต้นที่นิยมฝังศพ และเอาดอกไม้ไปวางเป็นเครื่องระลึกถึงตามโอกาส
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระวรกายอาจถูกเผาผลาญด้วยพระอัคนี
: แต่พระมหาบารมีจักสถิตมั่นนิรันดร
————
ภาพประกอบ: news.sanook.com
#บาลีวันละคำ (1,965)
26-10-60