บาลีวันละคำ

โบกขรพรรษ (บาลีวันละคำ 1,971)

โบกขรพรรษ

ฝนมหัศจรรย์

อ่านว่า โบก-ขะ-ระ-พัด

แยกศัพท์เป็น โบกขร + พรรษ

(๑) “โบกขร

บาลีเป็น “โปกฺขร” (โปก-ขะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง, เจริญ) + ขร ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ปุ-(สฺ) เป็น โอ (ปุสฺ > โปส), แปลง สฺ เป็น กฺ

: ปุสฺ + ขร = ปุสขร > โปสฺขร > โปกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “พืชอันน้ำเลี้ยงไว้

(2) โปกฺขร (น้ำ) + ปัจจัย (แทนศัพท์ “ชาต” = เกิด), ลบ

: โปกฺขร + = โปกฺขรณ > โปกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่เกิดในน้ำ

โปกฺขร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ต้นบัว, ใบบัว (a lotus plant, the lotus-leaf)

(2) หนังกลอง (the skin of a drum) (เนื่องจากความคล้ายคลึงกับใบบัว from its resemblance to the lotus-leaf)

(3) นกน้ำชนิดหนึ่ง, นกกระเรียน (a species of water-bird, crane)

(๒) “พรรษ

บาลีเป็น “วสฺส” (วัด-สะ) รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

บาลี “วสฺส” สันสกฤตเป็น “วรฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วรฺษ : (คำนาม) ‘วรรษ,’ ฝน; การประพรม; ปี; พลาหก; ฝนหรือฤดูฝน; rain; sprinkling; a year; a cloud; the rain, or rainy season.”

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “พรรษ” (พัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรรษ, พรรษ– : (คำนาม) ฝน; ปี. (ส. วรฺษ; ป. วสฺส).”

โปกฺขร + วสฺส = โปกฺขรวสฺส (โปก-ขะ-ระ-วัด-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “ฝนตกดุจตกลงบนใบบัว

โปกฺขรวสฺส” ในภาษาไทยใช้เป็น “โบกขรพรรษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โบกขรพรรษ : (คำนาม) ฝนดุจนํ้าตกลงในใบบัว, ฝนชนิดนี้ กล่าวไว้ว่า ใครอยากจะให้เปียก ก็เปียก ถ้าไม่อยากให้เปียก ก็ไม่เปียก เหมือนนํ้าตกลงบนใบบัว. (ป. โปกฺขร ว่า ใบบัว + ส. วรฺษ ว่า ฝน).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –

โบกขรพรรษ : “ฝนดุจตกลงบนใบบัว หรือในกอบัว”, ฝนที่ตกลงมาในกาละพิเศษ มีสีแดง ผู้ใดต้องการให้เปียก ก็เปียก ผู้ใดไม่ต้องการให้เปียก ก็ไม่เปียก แต่เม็ดฝนจะกลิ้งหล่นจากกาย ดุจหยาดน้ำหล่นจากใบบัว เช่น ฝนที่ตกในพระญาติสมาคมคราวเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก อันเหมือนกับที่ตกในพระญาติสมาคมของพระเวสสันดร.”

…………..

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับฝนโบกขรพรรษ :

๑ ฝนโบกขรพรรษจะตกในคราวที่มีเหตุการณ์พิเศษเท่านั้น ไม่ตกพร่ำเพรื่อ

๒ คำว่า “ผู้ใดไม่ต้องการให้เปียก ก็ไม่เปียก” มีลักษณะเป็น 2 อย่างคือ (1) เม็ดฝนตกถูกตัว แต่น้ำจากเม็ดฝนจะไม่ซึมซับเข้าไปยังผิวหนังหรือส่วนใดๆ ของร่างกาย หากแต่จะหลุดออกไปเหมือนน้ำตกลงบนใบบัว ดังนั้นน้ำจึงไม่เปียก (2) เม็ดฝนตกไม่ถูกตัวของผู้นั้น จึงไม่เปียก

๓ ควรทราบว่าฝนโบกขรพรรษเป็นเหตุให้เกิดมหาเวสสันดรชาดก

เรื่องก็คือเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก พวกพระญาติยังมีทิฐิมานะไม่ยอมเคารพกราบไหว้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์กำราบ สุดท้ายแห่งปาฏิหาริย์ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมา ภิกษุทั้งหลายยกเรื่องขึ้นสนทนากันว่าไม่เคยเห็นฝนชนิดนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าในอดีตชาติฝนโบกขรพรรษก็ได้เคยตกลงในสมาคมแห่งพระญาติเช่นเดียวกันนี้ แล้วจึงตรัสมหาเวสสันดรชาดก

ฝนโบกขรพรรษที่ตกในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกก็คือคราวเมื่อกษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์หลังจากพลัดพรากจากกันได้กลับมาเห็นกันพร้อมหน้าก็ถึงแก่วิสัญญีภาพ ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาทำให้ฟื้นคืนสมปฤดี

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านว่าคนทั้งหลายนี่ชอบกลฤๅหาไม่? –

: ไม่ชอบให้ฝนเปียกตัว

: แต่ไม่กลัวกิเลสเปียกใจ

#บาลีวันละคำ (1,971)

1-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย