สฺวากฺขาโต [1] (บาลีวันละคำ 1,975)
สฺวากฺขาโต [1]
เขียนอย่างไร – อ่านอย่างไร
“สฺวากฺขาโต” เป็นบทแรกของพระธรรมคุณ ข้อความเต็มๆ ในพระธรรมคุเป็นดังนี้ –
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.
“สฺวากฺขาโต” รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ขา (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ต ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), รัสสะ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > อ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > อ + กฺ + ขา)
(ก) อา > อ + กฺ + ขา = อกฺขา + ต = อกฺขาต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวไว้แล้ว” หมายถึง ประกาศ, ป่าวร้อง, กล่าว, บอก, แสดง (announced, proclaimed, told, shown)
(ข) สุ + อกฺขาต แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อฺว (สุ > โส > สฺว), ทีฆะสระหลัง คือ อะ ที่ อกฺ-(ขาต) เป็น อา (อกฺขาต > อากฺขาต)
: สุ > โส > สฺว + อกฺขาต = สวกฺขาต > สฺวากฺขาต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขากล่าวไว้แล้วดี” = (พระธรรม) อัน (พระผู้มีพระภาค) ตรัสไว้ดีแล้ว (well preached)
“สฺวากฺขาต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ ได้รูปเป็น “สฺวากฺขาโต”
“สฺวากฺขาโต” ภาษาไทยสะกดอย่างไร
“สฺวากฺขาโต” เป็นการสะกดตามแบบบาลี (แบบมีจุดล่างจุดบน) ที่ยุติแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าสะกดแบบบาลีไทยหรือแบบคำอ่านบาลี (แบบมีสระอะ มีไม้หันอากาศ) จะสะกดอย่างไร ?
โปรดสังเกตว่า “สฺวากฺ-” มีจุดใต้ ส > สฺว– เมื่อเขียนแบบไทยจึงต้องมีเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า สฺ– ออกเสียงครึ่งเสียง
อักขรวิธีบาลีไทยในสมัยหนึ่งใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต (ที่เราเรียกกันว่า การันต์) บนพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดรวมทั้งที่ออกเสียงครึ่งเสียง
“สฺวากฺขาโต” ก็จะเขียนเป็น “ส์วาก์ขาโต”
ต่อมาจึงปรับปรุงใหม่เป็นใช้จุดใต้พยัญชนะดังที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้
“ส์วาก์ขาโต” จึงเขียนเป็น “สฺวากฺขาโต”
แต่เมื่อเขียนแบบบาลีไทยหรือแบบคำอ่าน ก็มีปัญหาว่าจะเขียนอย่างไร จะเขียนเป็น “สะวาก-” ก็ไม่ได้ เพราะ สฺ– (มีจุดล่าง) ไม่ได้ออกเสียง สะ- เต็มเสียง จะเขียน “สวาก-” ก็จะต้องมีคนอ่านเป็น สะ-หวาก- เพราะเข้าใจว่า ส– เป็นอักษรนำ แบบเดียวกับ สวาท (สะ-หฺวาด) สวาย (สะ-หฺวาย) ก็ผิดเจตนาอีก
จึงมีผู้คิดเครื่องหมายชนิดหนึ่งขึ้นใช้กำกับบนพยัญชนะที่ออกเสียงครึ่งเสียง เช่น “พฺรหฺม” (มีจุดใต้ พ และ ห) เขียนแบบไทยเป็น “พ๎รัห๎มะ”
“สฺวากฺขาโต” จึงเขียนเป็น “ส๎วากขาโต”
อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกต พบว่า “สฺวากฺขาโต” มักมีผู้สะกดตามใจชอบเป็น –
สวากขาโต
สะวากขาโต
สะหวากขาโต
โปรดทราบว่าเป็นการสะกดที่คลาดเคลื่อน
“สฺวากฺขาโต – ส๎วากขาโต” ภาษาไทยอ่านอย่างไร
คำที่เป็นปัญหาคือ “สฺวากฺ-” หรือ “ส๎วาก-” ออกเสียงอย่างไร
คำที่ต้องกำหนดให้ดีคือ “สฺวากฺ-” มีจุดใต้ ส > สฺ– หรือ “ส๎วาก-” มีเครื่องหมายบน ส๎– หมายถึง สฺว– อ่านควบ ไม่ใช่ สะ-วาก- คือไม่ใช่ “สะ” คำหนึ่ง “วาก” อีกคำหนึ่ง
“สฺวากฺ-” คำเดิมคือ สุ + อกฺ– ลองออกเสียง สุ-อัก เร็วๆ จะได้ยินเป็น สฺ-หวัก-
หรือลองพูดว่า ซัว-อาก-ขา-โต นั่นคือเสียงที่ถูกต้องของ สฺวากฺขาโต
“สฺวากฺขาโต – ส๎วากขาโต” จึงไม่ใช่ สะ-หวาก-ขา-โต ดังที่มักได้ยินกันทั่วไปซึ่งเป็นการออกเสียงที่คลาดเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม การเรียนภาษาบาลีในเมืองไทยเป็นการเรียนเพื่อแปล (translation) ไม่ใช่เพื่อสนทนา (conversation) เราจึงไม่เข้มงวดกับการออกเสียง แม้จะออกเสียงคลาดเคลื่อนอย่างไรก็มักจะไม่มีใครยกขึ้นมาชี้ว่าผิดพลาด (ยกเว้นกรณีสวดกรรมวาจาในสังฆกรรม เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ดังคำว่า “ชีวสิทฺธี” (-ธี ธ ธง, ชี-วะ-สิด-ที) เวลานี้พระสงฆ์ในเมืองไทยออกเสียงเป็น ชี-วะ-สิด-ถี (-ถี ถ ถุง) กันแทบจะทั้งประเทศ ก็ไม่มีใครเดือดร้อนฉะนั้นแล
แต่เฉพาะคำว่า “สฺวากฺขาต” มีข้อที่ต้องระวังในกรณีที่แต่งฉันท์ซึ่งบังคับด้วยจำนวนคำหรือพยางค์ ถ้าอ่านว่า สะ-หวาก- จะทำให้เผลอเข้าใจไปว่าเป็น 2 พยางค์ ทั้งๆ ที่เกณฑ์การแต่งฉันท์ “สฺวากฺ-” ท่านนับเป็น 1 พยางค์ เช่นปัฐยาวัตรฉันท์ บังคับวรรคละ 8 พยางค์ ฉันท์แต่งใหม่บทหนึ่ง มีวรรคหนึ่งแต่งว่า –
สฺวากฺขาตสฺส ปาฐสฺส
0 0 0 0 0 0 0 0
0 0 0 0 0 0 0 0
0 0 0 0 0 0 0 0
ถ้าเผลอไปอ่าน “สฺวากฺ-” เป็น สะ-หวาก- ก็จะเข้าใจไปว่าครบ 8 พยางค์ แต่ที่จริงฉันท์วรรคนี้นับได้ 7 พยางค์เท่านั้น ขาดไป 1 พยางค์!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โรคไม่หายเพียงเพราะฟังคำบรรยายสรรพคุณยา
: พระธรรมที่ตรัสไว้ดีจะมีคุณค่าเมื่อลงมือปฏิบัติตาม
#บาลีวันละคำ (1,975)
8-11-60