บาลีวันละคำ

ราชสวัสดิ์ (บาลีวันละคำ 1,976)

ราชสวัสดิ์

ผิดจนถูก

อ่านว่า ราด-ชะ-สะ-หฺวัด

ประกอบด้วยคำว่า ราช + สวัสดิ์

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๒) “สวัสดิ์

บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ (= ดี, งาม) + อตฺถิ (= มี, เป็น)

(1) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ

: อสฺ > + ติ > ตฺถิ : + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น

(2) สุ + อตฺถิ :

สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ)

(ลองออกเสียง สุอัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)

สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺวสฺติ” 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สฺวสฺติ : (คำนาม) นิบาตคือคำอวยชัยให้พร; มงคลนิบาต (ดุจคำว่า – ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ); ธันยวาทศัพท์; a particle of benediction; an auspicious particle (as- ‘adieu, farewell’); a term of approbation.

(2) สฺวสฺติ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ, ‘จงสวัสดีมีชัย’ ก็ใช้ตามมติไท [ตามมติสํสกฤตเปน-สฺวสฺติ, ภทฺรํ ภูยาตฺ, ฯลฯ]; adieu, farewell.

สุอตฺถิ = สุวตฺถิ > สฺวสฺติ > สวัสดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)

สุวตฺถิ” ในภาษาไทย เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น สวัสดิ-, สวัสดิ์, สวัสดี

หมายเหตุ :

สุ + อตฺถิ ในบาลี ได้รูปเป็นอีกศัพท์หนึ่ง คือ “โสตฺถิ” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ

: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ มีความหมายอย่างเดียวกับ สุวตฺถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ : (คำนาม) ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง;ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).”

ราช + สวัสดิ์ = ราชสวัสดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสุขสวัสดีของพระราชา” หรือแปลแบบตีความเพื่อให้สอดคล้องกับความเข้าใจของคนทั่วไปว่า “หลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขสวัสดีแก่พระราชา

…………..

อภิปราย :

คำว่า “ราชสวัสดิ์” ตามที่อธิบายข้างต้นเป็นการอธิบายเท่าที่ตามองเห็น คือตามองเห็นเป็นคำว่า ราช + สวัสดิ์ = ราชสวัสดิ์

แต่เมื่อพิจารณาข้อความที่นิยมยกขึ้นมาอ้างอิงว่าเป็น “ราชสวัสดิ์” จะพบข้อที่สะดุดใจหลายประการ

ข้อความที่นิยมยกขึ้นมาอ้างอิงว่าเป็น “ราชสวัสดิ์” มีดังนี้ –

…………….

โบราณว่าเป็นข้าจอมกษัตริย์..ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา

ท่านกำหนดจดไว้ในตำรา……มีมาแต่โบราณช้านานครัน

หนึ่งวิชาสามารถมีอย่างไร…..ไม่ปิดไว้ให้ท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์

หนึ่งกล้าหาญทำการถวายนั้น..มุ่งมั่นจนสำเร็จเจตนา

หนึ่งมิได้ประมาทราชกิจ……ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา

หนึ่งสัตย์ซื่อถือธรรมจรรยา…เหมือนสมาทานศีลไว้มั่นคง

หนึ่งเสงี่ยมเจียมตัวไม่กำเริบ..เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเฟ้อหลง

หนึ่งอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์….ไม่ทำเทียมด้วยทะนงพระกรุณา

หนึ่งไซร้ไม่ร่วมราชาอาสน์….ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา

หนึ่งเข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา…ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ

หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว…เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน

หนึ่งสามิภักดิ์รักใคร่ในภูบาล..ถึงถูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน

ที่มา: เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ตอนที่ 15 ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง

…………….

หลัก “ราชสวัสดิ์” ที่อ้างในเสภาตรงกับหลักธรรมในวิธุรชาดก ตอน “ราชวสตี” (รา-ชะ-วะ-สะ-ตี) (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 957-972)

คำว่า “ราชวสตี” มาจากข้อความในคาถาวรรคหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่หลายแห่งในชาดกตอนดังกล่าวว่า

ส  ราชวสตึ  วเส

อ่านว่า สะ รา-ชะ-วะ-สะ-ติง วะ-เส

แปลว่า “ผู้นั้นพึงอยู่กับพระราชาได้

เช่นข้อความในคาถาที่ 960 ว่า –

โย  จสฺส  สุกโต  มคฺโค……รญฺโญ  สุปฏิยาทิโต

น  เตน  วุตฺโต  คจฺเฉยฺย…..ส  ราชวสตึ  วเส  ฯ

มรรคาอันใดที่เขาตระเตรียมตกแต่งไว้สำหรับพระราชาเสด็จ

แม้จะทรงพระกรุณาอนุญาต ก็อย่าได้บังอาจไปร่วมเดิน

ผู้ที่ปฏิบัติได้ดังนี้พึงอยู่กับพระราชาได้

…………..

ราชวสตี” ประกอบด้วยคำว่า ราช (พระราชา) + วสตี (การอยู่, การพักอาศัย)

: ราช + วสตี = ราชวสตี แปลว่า “การอยู่กับพระราชา” หมายถึงการรับใช้ใกล้ชิดพระราชา ที่เราพูดว่า รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท

ราชวสตี” เขียนแบบไทยเป็น “ราชวสดี” (ต เต่า เป็น ด เด็ก) อ่านว่า ราด-ชะ-วะ-สะ-ดี

หรือเขียนเป็น “ราชวัสดี” อ่านว่า ราด-ชะ-วัด-สะ-ดี

จาก “ราชวัสดี” นี่เองที่มีผู้มองพลาดอ่านผิดกลายเป็น “ราชสวัสดี

จาก “ราชสวัสดี” ก็กลายเป็น “ราชสวัสดิ์” ดังที่เห็นกันอยู่

ถ้าได้ศึกษาเนื้อหาสาระในวิธุรชาดก ตอน “ราชวสตี” ให้ทั่วถ้วนแล้วย่อมจะยืนยันได้เป็นมั่นคงว่า ภาษิตที่เรียกว่า “ราชสวัสดิ์” นั้นถอดออกมาจาก “ราชวสตี” โดยปราศจากข้อสงสัย

สรุปว่า “ราชสวัสดิ์” ก็คือ “ราชวสตี” นั่นเอง

ราชสวัสดิ์” จึงเป็นคำผิดที่กลายเป็นถูกไปแล้วอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักนายให้ถูกวิธี

: คือทำความดีให้นายดู

#บาลีวันละคำ (1,976)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย