ปริตร (บาลีวันละคำ 1,982)
ปริตร
คำสั้น แต่ความหมายยาว
“ปริตร” บาลีเป็น “ปริตฺต” (ปะ-ริด-ตะ) มี 2 ความหมาย คือ –
(๑) “ปริตฺต” รากศัพท์มาจาก –
(1) ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน) + อตฺต (สิ่งที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ)
: ปริ + อตฺต = ปริตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่แตกไปโดยรอบ”
(2) ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน) + ทา (ธาตุ = ขาดตอน) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ทา > ท), แปลง ท เป็น ต, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปริ + ตฺ + ทา)
: ปริ + ตฺ + ทา = ปริตฺทา > ปริตฺตา > ปริตฺต + อ = ปริตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ขาดไปโดยรอบ”
“ปริตฺต” (นปุงสกลิงค์) ตามรากศัพท์นี้หมายถึง เล็ก, เล็กน้อย, ด้อยกว่า, ไม่ว่าสำคัญ, จำกัด, นิดหน่อย, นิดเดียว (small, little, inferior, insignificant, limited, of no account, trifling)
(๒) “ปริตฺต” รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน) + ตา (ธาตุ = ป้องกัน) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > ต), ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปริ + ตฺ + ตา)
: ปริ + ตฺ + ตา = ปริตฺตา > ปริตฺต + อ = ปริตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ป้องกันภัยเป็นต้นให้แก่สัตว์รอบด้าน”
“ปริตฺต” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง การป้องกัน, การรักษาให้ปลอดภัย; ของขลังสำหรับป้องกันตัว, ของที่ช่วยบรรเทา, เครื่องราง (protection, safeguard; protective charm, palliative, amulet)
“ปริตฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปริตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ปริตร [ปะหฺริด] : (คำนาม) ความต้านทาน, เครื่องป้องกัน; พระพุทธมนต์ในเจ็ดตํานานที่เรียกว่า สัตปริตร และสิบสองตํานานที่เรียกว่า ทวาทศปริตร, ตํานานหนึ่ง เรียกว่า ปริตรหนึ่ง. (คำวิเศษณ์) น้อย. (ส.; ป. ปริตฺต).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงใหม่เป็น ปริตร ๑ ปริตร ๒ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ปริตร ๑ [ปะริด, ปะหฺริด] : (คำนาม) ความต้านทาน, เครื่องป้องกัน; พระพุทธมนต์ในเจ็ดตำนานที่เรียกว่า สัตปริตร และสิบสองตำนานที่เรียกว่า ทวาทศปริตร, ตำนานหนึ่ง เรียกว่า ปริตรหนึ่ง. (ส.; ป. ปริตฺต).
(2) ปริตร ๒ [ปะริด] : (คำวิเศษณ์) น้อย. (ส. ปรีตฺต; ป. ปริตฺต).
ในที่นี้ได้ระบุคำอ่านของพจนานุกรมฯ ไว้ด้วยเพื่อให้เป็นข้อสังเกต
ข้อสังเกตก็คือ คำว่า “ปริตร” พจน.ฉบับ 42 บอกคำอ่านไว้เพียงแบบเดียวว่า ปะ-หฺริด
แต่ พจน.ฉบับ 54 “ปริตร ๑” บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า ปะ-หฺริด ก็ได้ อ่านว่า ปะ-ริด ก็ได้
ส่วน “ปริตร ๒” ซึ่งแยกออกมาจาก “ปริตร” เดิมในฉบับ 42 นั่นเองฉบับ 54 บอกคำอ่านไว้เพียงแบบเดียวว่า ปะ-ริด
สรุปว่า “ปริตร” ที่แปลว่า ความต้านทาน, เครื่องป้องกัน เดิมอ่านได้แบบเดียวว่า ปะ-หฺริด ตอนนี้อ่านว่า ปะ-ริด ก็ได้
ส่วน “ปริตร” ที่แปลว่า น้อย เดิมอ่านได้แบบเดียวว่า ปะ-หฺริด ตอนนี้อ่านได้แบบเดียวว่า ปะ-ริด ไม่อ่านว่า ปะ-หฺริด
ที่ต้องให้สังเกตก็เพราะคำว่า “ปริตร” นี้ เดิมท่านอ่านกันว่า ปะ-หฺริด แต่คนรุ่นใหม่ไม่สำเหนียก ไม่สังเกต พากันอ่านตามความเข้าใจของตัวเองว่า ปะ-ริด ซึ่งเป็นการอ่านผิด แล้วพจนานุกรมฯ ก็ยอมรับว่าการอ่านผิดนั้นเป็นการอ่านถูก
เทียบได้กับคำว่า “จำวัด” ซึ่งแปลว่า พระนอนหลับ แต่คนรุ่นใหม่ไม่สำเหนียก ไม่สังเกต และไม่เรียนรู้ พากันใช้ตามความเข้าใจของตัวเองว่า จำวัดคือพระพำนักอยู่ที่วัด เช่น พระ ก. เป็นพระในสังกัดวัดมหาธาตุ คืออยู่วัดมหาธาตุ คนรุ่นใหม่ก็จะพูดว่า พระ ก. จำวัดที่วัดมหาธาตุ
คาดว่า ต่อไปพจนานุกรมฯ ก็คงจะยอมรับความหมายผิดๆ เช่นนี้ว่าเป็นความหมายที่ถูกต้องไปอีกคำหนึ่ง
…………..
ขยายความ :
ขอนำข้อความส่วนต้นของคำว่า “ปริตต์, ปริตร” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้เป็นความรู้เบื้องต้นดังนี้ –
ปริตต์, ปริตร :
1. [ปะ-ริด] น้อย, เล็กน้อย, นิดหน่อย, ต่ำต้อย, ด้อย, คับแคบ, ไม่สำคัญ (ตรงข้ามกับ มหา หรือ มหันต์)
2. [ปะ-ริด] สภาวะที่ด้อย หรือคับแคบ หมายถึงธรรมที่เป็นกามาวจร, พึงทราบว่า ธรรมทั้งปวง หรือสิ่งทั้งหลายประดามีนั้น นัยหนึ่งประมวลจัดแยกได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ปริตตะ (ธรรมที่ด้อยหรือคับแคบ คือเป็นกามาวจร) มหัคคตะ หรือมหรคต (ธรรมที่ถึงความยิ่งใหญ่ คือเป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร) และ อัปปมาณะ (ธรรมที่ประมาณมิได้ คือเป็นโลกุตตระ);
3. [ปะ-หริด] “เครื่องคุ้มครองป้องกัน”, บทสวดที่นับถือเป็นพระพุทธมนต์ คือบาลีภาษิตดั้งเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งได้ยกมาจัดไว้เป็นพวกหนึ่งในฐานะเป็นคำขลัง หรือคำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันช่วยให้พ้นจากภยันตราย และเป็นสิริมงคลทำให้เกษมสวัสดีมีความสุขความเจริญ (ในยุคหลังมีการเรียบเรียงปริตรเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากบาลีภาษิตในพระไตรปิฎกบ้าง พึงทราบตามคำอธิบายต่อไป และพึงแยกว่า บทสวดที่มักสวดเพิ่มหรือพ่วงกับพระปริตรในพิธีหรือในโอกาสเดียวกัน มีอีกมาก มิใช่มาจากพระไตรปิฎก แต่เป็นของนิพนธ์ขึ้นภายหลัง ไม่ใช่พระปริตร แต่เป็นบทสวดประกอบ โดยสวดนำบ้าง สวดต่อท้ายบ้าง)
กล่าวได้ว่า การสวดพระปริตรเป็นการปฏิบัติสืบเนื่องจากความนิยมในสังคมซึ่งมีการสวดสาธยายร่ายมนต์ (มันตสัชฌายน์, มันตปริชัปปน์) ที่แพร่หลายเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ แต่ได้ปรับแก้จัดและจำกัดทั้งความหมาย เนื้อหา และการปฏิบัติ ให้เข้ากับคติแห่งพระพุทธศาสนา อย่างน้อยเพื่อช่วยให้ชนจำนวนมากที่เคยยึดถือมาตามคติพราหมณ์และยังไม่เข้มแข็งมั่นคงในพุทธคติ หรืออยู่ในบรรยากาศของคติพราหมณ์นั้น และยังอาจหวั่นไหว ให้มีเครื่องมั่นใจและให้มีหลักเชื่อมต่อที่จะช่วยพาพัฒนาก้าวต่อไป ….
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยากนักที่จะป้องกันทุกข์ภัยไม่ให้มากระทบ
: แต่ผู้ฝึกใจให้รู้จบ แม้กระทบก็ไม่กระเทือน
#บาลีวันละคำ (1,982)
15-11-60