บาลีวันละคำ

ถวายสังฆทาน (บาลีวันละคำ 1,984)

ถวายสังฆทาน

แล้วเราก็ตกหลุมพรางของภาษาโดยไม่รู้ตัว

ประกอบด้วยคำว่า ถวาย + สังฆทาน

(๑) “ถวาย

เป็นคำไทย ดูพจนานุกรมเป็นการประดับความรู้ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ถวาย : (คำกริยา) ให้, มอบให้, เช่น ถวายของ (ใช้แก่พระสงฆ์หรือเจ้านาย); ให้ดู, ให้ชม, เช่น รําถวายมือ เล่นถวายตัว, แผลงเป็น ดงวาย หรือ ตังวาย ก็ได้.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็น –

ถวาย : (คำกริยา) ให้, มอบให้, เช่น ถวายของ (ใช้แก่ พระสงฆ์); ให้ดู, ให้ชม, เช่น รำถวายมือ เล่นถวายตัว, แผลงเป็น ดงวาย หรือ ตังวาย ก็ได้; (ราชาศัพท์) ให้, มอบให้, (ใช้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าลงมาจนถึงหม่อมเจ้า), ให้สิ่งที่เป็นนามธรรมแก่พระมหากษัตริย์และเจ้านาย เช่น ถวายพระพร ถวายชีวิต.”

(๒) “สังฆทาน

เป็นรูปคำบาลี ประกอบด้วย สังฆ + ทาน

(ก) “สังฆ

บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น , แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > : สงฺ + = สงฺฆ + = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

(ข) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;

ทาน 2 คือ

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ

2. ธรรมทาน ให้ธรรม;

ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ”

…………..

อภิปราย :

จะเห็นได้ว่า สังฆ + ทาน = สังฆทาน แปลว่า “ให้แก่สงฆ์” หรือให้เพื่อส่วนรวม

เมื่อรวมกับคำว่า “ถวาย” เป็น “ถวายสังฆทาน” จึงมีความหมายว่า “ถวายให้แก่สงฆ์” คือถวายให้เป็นของส่วนรวม ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

โปรดสังเกตให้ดีๆ ว่า ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “ถวายสังฆทาน” ก็คือ “ถวายให้แก่สงฆ์

ถวายสังฆทาน” ไม่ใช่ถ้อยคำที่ระบุว่า “ถวายอะไร

ถ้าจะให้รู้ว่าถวายอะไร ก็ต้องระบุสิ่งนั้นๆ ลงไป เช่น –

“ถวาย ภัตตาหาร ให้แก่สงฆ์”

“ถวาย ไตรจีวร ให้แก่สงฆ์”

“ถวาย ศาลา ให้แก่สงฆ์”

“ถวาย ยารักษาโรค ให้แก่สงฆ์”

แต่เวลานี้ เราถูกคำว่า “ถวายสังฆทาน” หลอกความรู้สึกให้เข้าใจผิดกันทั่วไปว่า “สังฆทาน” เป็น “สิ่งของชนิดหนึ่ง

ถวายสังฆทาน” ก็คือ “ถวายสิ่งของชนิดหนึ่ง”

มีผู้เอาสินค้าบางชนิด เช่นยาสีฟัน ผงซักฟอก กระดาษชำระ ฯลฯ รวมทั้งอาหารกระป๋องเป็นต้น บรรจุลงในถังสีเหลือง แล้วเรียกชื่อถังนั้นว่า “ถังสังฆทาน” ต่อมาได้ปรับปรุงภาชนะที่ใช้บรรจุเป็นรูปแบบอื่นๆ แล้วเปลี่ยนคำเรียกเป็น “ชุดสังฆทาน

เวลานี้คนทั้งโลกพากันเข้าใจว่า สิ่งของหรือสินค้าดังที่กล่าวนั้นคือ “สังฆทาน

เมื่อเอาสิ่งของหรือสินค้าชนิดนั้นไปถวายพระ ก็พากันเข้าใจไปว่านั่นคือ “ถวายสังฆทาน

ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำเดิมที่ว่า “ถวายสังฆทาน” คือ “ถวาย-(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง)-ให้แก่สงฆ์

เวลานี้คนที่ “ถวายสังฆทาน” ไม่มีความรู้และไม่สนใจที่จะรู้แม้แต่น้อยว่าตนกำลังถวายสิ่งนั้นให้แก่ใคร ขอเพียงให้มี “ชุดสังฆทาน” เท่านั้น ก็เข้าใจว่าได้ “ถวายสังฆทาน” แล้ว

คนส่วนมากจึงพากันตกหลุมพรางของคำว่า “ถวายสังฆทาน” กันอยู่ทั่วไป และมีน้อยนักที่คิดจะตะเกียกตะกายขึ้นมาจากหลุมแห่งความเข้าใจผิดๆ นี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านว่าศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกัน

: ถ้าไม่รู้จักเลือกสิ่งที่เชื่อ ก็ยังไม่เรียกว่ามีศรัทธาเลิศเลอ

: ถ้าเลือกหาสิ่งที่ควรเชื่อไม่เจอ ก็ยังไม่เรียกว่ามีปัญญาเลิศล้ำ

————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (1,984)

17-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย