เศรณี (บาลีวันละคำ 2,366)
เศรณี
อ่านอย่างไร เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เศรณี : (คำนาม) แถว, แนว; หมวด, หมู่, พวก. (ส.).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “เศรณี” เป็นภาษาสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เศฺรณิ” และ “เศฺรณี” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เศฺรณิ, เศฺรณี : (คำนาม) สูตร์, เส้น, บันทัด, แถว, ทิว; แสนยคุลม์หรือกองร้อย; คณะพ่อค้า; บริษัท; ถัง; ภาชนะสำหรับวิดน้ำ; มาลา; อนุกรม; a line, a row, a range; a company of soldier; a company of traders; a corporation; a bucket; a bailing vessel; series, order or succession.”
สันสกฤต “เศฺรณิ” และ “เศฺรณี” บาลีเป็น “เสณิ”
“เสณิ” (เส-นิ) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ณ = สิณ > เสณ + อิ = เสณิ แปลตามศัพท์ว่า “การเสพอาศัยกัน”
“เสณิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สมาคมการค้า (a guild)
(2) หมวดทหาร (a division of an army)
(3) แถว, แนว, เส้น (a row, range, line)
บาลี “เสณิ” (มีที่เป็น “เสณี” ด้วย) > สันสกฤต “เศฺรณิ” และ “เศฺรณี” > ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “เศรณี”
“เศรณี” อ่านอย่างไร? :
เท่าที่ฟังอ่านกันทั่วไป ได้ยินมา 2 อย่าง คือ
1 อ่านว่า เส-ระ-นี
2 อ่านว่า สะ-เร-ณี
“เศรณี” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านไว้ ไม่ใช่ทั้ง เส-ระ-นี ไม่ใช่ทั้ง สะ-เร-ณี แต่อ่านว่า เส-นี
“เสณิ” บาลีอ่านว่า เส-นิ
“เศรณี” พจนานุกรมฯ บอกว่าอ่าน เส-นี
เทียบคำว่า “ศีรษะ” อันเป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สีส”
“สีส” บาลีอ่านว่า สี-สะ
“ศีรษะ” ไม่ได้อ่าน สี-ระ-สะ หรือ สะ-รี-สะ แต่อ่านว่า สี-สะ เหมือนบาลี
ดังนั้น “เศรณี” ที่เป็นคำในนามสกุลบุคคล เช่น “อัครเศรณี” และ “จารุเศรณี” เป็นต้น ถ้าเป็นคำเดียวกับ “เศรณี” ในพจนานุกรมฯ ก็ควรจะอ่านตามพจนานุกรมฯ
“อัครเศรณี” อ่านว่า อัก-คฺระ-เส-นี
“จารุเศรณี” อ่านว่า จา-รุ-เส-นี
แต่ก็ยังมีปัญหาอีกว่า “เศรณี” ที่เป็นชื่อหรือนามสกุลบุคคลย่อมอยู่ในฐานะเป็น “วิสามานยนาม” (proper name) จะอ่านอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อ อย่างนามสกุล “อัครเศรณี” นั้น เจ้าของนามสกุลเองอ่านอย่างไร ก็อาจยกมาอ้างอิงได้ด้วย
อีกประการหนึ่ง นามสกุล “อัครเศรณี” และ “จารุเศรณี” นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่าอาจจะเป็นนามสกุลพระราชทานก็ได้ ถ้าเป็นตามที่เข้าใจนี้ ก็ควรจะต้องสืบสอบไปที่ทะเบียนนามสกุลพระราชทานอีกทางหนึ่ง
เท่าที่เคยเห็นมานั้น นามสกุลพระราชทานจะมีใบกำกับเป็นหลักฐานแนบอยู่ด้วย ใบกำกับที่ว่านี้จะมีนามสกุลพระราชทานที่เขียนเป็นอักษรโรมันอยู่ด้วยเสมอ อักษรโรมันที่เขียนนามสกุลนั้นจะเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาได้ว่า นามสกุลที่พระราชทานลงมานั้นๆ ควรจะอ่านว่าอย่างไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำทำหน้าที่เพียงนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษามาเสนอไว้เท่านั้น ในขณะที่เขียนบาลีวันละคำคำนี้ยังไม่มีโอกาสที่จะสืบสอบในทางใดๆ เพิ่มเติม
ได้แต่หวังใจว่าคงจะมีญาติมิตรที่มีน้ำใจรักทางวิชาการ ที่มีข้อมูลอยู่ในมือหรือมีช่องทางที่จะสืบสอบต่อไปได้อีก จะได้ช่วยกันแสวงหาแล้วนำข้อมูลหลักฐานต่างๆ มาเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ร่วมกันของชาวเราสืบไป
…………..
พิศาล อัครเศรณี
บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงของไทย
ถึงแก่กรรมวันที่ 4 ธันวาคม 2561
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่านคน
: ยากกว่าอ่านคำ
#บาลีวันละคำ (2,366)
4-12-61