บาลีวันละคำ

ชีวสิทฺธี – สทา โสตฺถี (บาลีวันละคำ 1,986)

ชีวสิทฺธีสทา โสตฺถี

ออกเสียงวิปลาส พุทธศาสน์ก็วิปริต

อ่านว่า ชี-วะ-สิด-ที / สะ-ทา โสด- ถี

(๑) “ชีวสิทฺธี” ประกอบด้วยคำว่า ชีว + สิทฺธี

(1) “ชีว” (ชี-วะ) รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + ปัจจัย

: ชีวฺ + = ชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” หมายถึง ชีวิต (ของแต่ละคน), เวลาที่ชีวิตดำรงอยู่, ช่วงของชีวิต, การเป็นอยู่; การดำรงชีพ ([individual] life, lifetime, span of life; living, livelihood)

(2) “สิทฺธี” (สิด-ที) รากศัพท์มาจาก –

(1) สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สิธฺ > สิ)

: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ : สิ + ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ

(2) (ตัดมาจาก “สห” = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อิทฺธิ

(ก) “อิทฺธิ” รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ (อิธฺ > อิทฺธ)

: อิธฺ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ” หมายถึง ความสำเร็จ, ความเจริญ (ดูเพิ่มเติมที่ “อิทธิฤทธิ์” บาลีวันละคำ (1,294) 14-12-58)

(ข) + อิทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นไปพร้อมกับความสำเร็จ

สิทฺธิ” (อิตถีลิงค์) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ความสำเร็จ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง)

สิทฺธิ” แจกวิภัตติเป็นพหูพจน์ ได้รูปเป็น “สิทฺธี

ชีว + สิทฺธี = ชีวสิทฺธี แปลว่า “ความสำเร็จในชีวิต” “ความสำเร็จแห่งชีวิต

(๒) “สทา โสตฺถี” เป็น 2 คำ คือ “สทา” คำหนึ่ง “โสตฺถี” อีกคำหนึ่ง

(1) “สทา” เป็นศัพท์นิบาต แปลว่า ทุกเมื่อ (always)

(2) “โสตฺถี” (โสด-ถี) รากศัพท์มาจาก สุ (= ดี, งาม) + อตฺถิ (= มี, เป็น)

(ก) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ

: อสฺ > + ติ > ตฺถิ : + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น

(ข) สุ + อตฺถิ, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ, ทีฆะ อิ ที่ (อตฺ)-ถิ เป็น อี

: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ > โสตฺถี (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)

…………..

อภิปราย :

ชีวสิทฺธี” เป็นคำหนึ่งในบทอนุโมทนาที่ขึ้นต้นว่า –

อายุวฑฺฒโก  ธนวฑฺฒโก  สิริวฑฺฒโก

…………………

…………………

สิริ  อายุ  จ  วณฺโณ  จ…..โภคํ  วุฑฺฒี  จ  ยสวา

สตวสฺสา  จ อายู จ……….ชีวสิทฺธี  ภวนฺตุ  เต.

จงเป็นผู้เจริญอายุ เจริญทรัพย์ เจริญศรี

…………………

…………………

ความมีสิริ อายุ วรรณะ โภคะ ความเจริญ และความมียศ

อายุยืนร้อยปี และความสำเร็จในชีวิต จงมีแก่ท่าน

ส่วน “สทา โสตฺถี” เป็นคำหนึ่งในบทอนุโมทนาที่ขึ้นต้นว่า –

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ…….รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา

สพฺพพุทฺธานุภาเวน….สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต.

ขอสรรพมงคลจงมี (แก่ท่าน)

ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษา (ท่าน)

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง

ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ที่ยกเอาคำทั้ง 2 มาเสนอไว้ก็เพื่อจะบอกว่า

(1) คำว่า “ชีวสิทฺธี” ตรงพยางค์ — สิทฺธี ซึ่งควรจะออกเสียงว่า สิด-ที เวลานี้พระสงฆ์ในเมืองไทยออกเสียงเป็น — สิด-ถี (ธี ธ ธง กลายเป็น ถี ถ ถุง)

(2) คำว่า “โสตฺถี” ซึ่งควรจะออกเสียงว่า โสด-ถี เวลานี้พระสงฆ์ในเมืองไทยออกเสียงเป็น โสด-ที (ถี ถ ถุง กลายเป็น ที ท ทหาร)

การสลับเสียง ที เป็น ถี หรือ ถี เป็น ที ในคำทั้ง 2 นี้ ไม่ใช่เกิดจากการสวดตามสำเนียงมคธ ดังคำว่า มยฺหํ ออกเสียงเป็น ไม-หั้ง หรือ สมฺมา ออกเสียงเป็น ส้ำ-มา ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของเสียงมคธ

เทียบกับสำเนียงพื้นถิ่นของไทย เช่นสำเนียงสุพรรณหรือเมืองกาญจน์ คำว่า “พ่อก็มา แม่ก็มา มากันทั้งบ้าน” จะออกเสียงเป็น “พ่อก็หมา แม่ก็หมา หมากันทั้งบ้าน” – อย่างนี้คือธรรมชาติของการออกเสียงในภาษาถิ่นต้องเป็นเช่นนั้นเอง

แต่ “ชีวสิทฺธี” และ “โสตฺถี” ไม่ใช่เช่นนั้น

เมื่อทดลองออกเสียง “ชีวสิทฺธี” ให้เป็น -ที และออกเสียง “โสตฺถี” ให้เป็น -ถี ตามพยัญชนะ ก็สามารถออกเสียงได้ตรงตัวพยัญชนะตามธรรมชาติของสำเนียงมคธ

จึงเห็นได้ว่าการสลับเสียง ที เป็น ถี หรือ ถี เป็น ที ในคำทั้ง 2 นี้ เกิดจากการจงใจที่จะออกเสียงให้เป็นเช่นนั้น และการจงใจเช่นนั้นน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้สวด คือเข้าใจไปว่าคำตรงนั้นเป็น “ชีวสิทฺถี” และเป็น “โสตฺที” เนื่องจากไม่ได้สังเกตสำเหนียกให้ถ่องแท้ถี่ถ้วน หรือสวดตามกันไปโดยไม่ได้คิดจะตรวจสอบให้ถูกต้องถ่องแท้ว่าคำนั้นเป็นพยัญชนะอะไรและออกเสียงอย่างไร

ควรกำหนดไว้ด้วยว่า ปัญหานี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กวัด เป็นสามเณร ตลอดจนเป็นพระ ก็สวดคำทั้ง 2 นี้อยู่เสมอ แต่ไม่เคยออกเสียงวิปริต ที เป็น ถี หรือ ถี เป็น ที อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้

…………..

มีพระบาลีตรัสไว้ว่า พระตถาคตทรงประกาศพรหมจรรย์คือพระศาสนา พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

…………..

ถ้ารักษาพยัญชนะไว้ไม่ได้ ก็รักษาอรรถะไว้ไม่ได้

รักษาอรรถะและพยัญชนะไว้ไม่ได้ ก็รักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงของพระศาสนาไว้ไม่ได้

และในที่สุด-ก็จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้

ดูก่อนภราดา!

: เด็ดดอกไม้ดอกเดียวสะเทือนถึงดวงดาว ฉันใด

: พยัญชนะวิปริตคำเดียว ก็พินาศไปถึงพระศาสนาได้ ฉันนั้น

————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (1,986)

19-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย