อุณาโลม (บาลีวันละคำ 2,123)
อุณาโลม
อ่านว่า อุ-นา-โลม
ประกอบ อุณา + โลม
(๑) “อุณา”
บาลีเป็น “อุณฺณา” (อุน-นา) รากศัพท์มาจาก อุ (ตัดมาจาก “อุป” (อุ-ปะ) คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้) + นมฺ (ธาตุ = นอบน้อม; นำไป) อ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (นมฺ > น), แปลง น เป็น ณ, ซ้อน ณฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ณฺ + นมฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อุ + ณฺ + นมฺ = อุณฺนมฺ + อ = อุณฺนม > อุณฺน > อุณฺณ + อา = อุณฺณา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องน้อมเข้าไปประดับ”
“อุณฺณา” (เป็น “อุณฺณ” ด้วย) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ขนแกะ (wool)
(2) ขนระหว่างคิ้วทั้งสอง (hair between the eyebrows)
บาลี “อุณฺณา” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อุณา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุณา : (คำนาม) ขนแกะ; ขนระหว่างคิ้ว. (ป. อุณฺณา; ส. อูรฺณา).”
(๒) “โลม”
บาลีอ่านว่า โล-มะ รากศัพท์มาจาก ลุ (ธาตุ = ตัด) + ม ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ลุ เป็น โอ (ลุ > โล)
: ลุ + ม = ลุม > โลม (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตัดเมื่อยาวขึ้น” “สิ่งที่ควรตัดออก” หมายถึง ขน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โลม” แบบให้คำจำกัดความว่า the hair of the body (ขนของร่างกาย) และเพื่อให้เห็นว่าต่างจาก “ผม” จึงขยายความไว้ว่า whereas kesa is the hair of the head only (ส่วน “เกส” คือ ขนของศีรษะเท่านั้น)
อุณฺณา + โลม = อุณฺณาโลม ในภาษาไทยใช้เป็น “อุณาโลม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุณาโลม : (คำนาม) ขนระหว่างคิ้ว; เครื่องหมายรูปอย่างนี้ .” (ดูรูปที่ภาพประกอบ)
ขยายความ :
คำว่า “อุณฺณาโลม > อุณาโลม” เดิมหมายถึงขนระหว่างคิ้ว และเป็นลักษณะอย่างหนึ่งในมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ
“อุณาโลม” ที่เป็น “มหาบุรุษลักษณะ” มีคำบาลีในพระไตรปิฎกว่า –
“อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา โอทาตา มุทุ ตูลสนฺนิภา.”
แปลว่า มีพระอุณาโลมขาวละเอียดอ่อนดังสำลีเกิดระหว่างพระขนง
อรรถกถาขยายความว่า ถ้าจับปลายเส้นพระโลมาแล้วดึงออกจะได้ความยาวประมาณครึ่งช่วงแขน เมื่อปล่อยกลับ เส้นพระโลมาจะม้วนเป็นทักษิณาวรรต ปลายชี้ขึ้นบน
………….
ต่อมา มีการนำลักษณะของอุณาโลมไปประดิษฐ์เป็นรูปลักษณ์อย่างหนึ่ง และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายบางอย่าง
นอกจากนี้ยังเกิดความนิยมเจิมจุดที่หน้าผากเป็นเครื่องหมายอุณาโลม ถือกันว่าเป็นสิริมงคล
…………..
ดูก่อนภราดา!
อุณาโลมเจิมหน้าเป็นมหาสิริ
ไม่เอาสติเจิมใจก็ไร้ผล
สารพัดแต่งเติมเสริมมงคล
แต่ใจตนไม่แต่งใจไหนจะงาม
#บาลีวันละคำ (2,123)
5-4-61