บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คาถาน่ากลุ้ม

คาถาน่ากลุ้ม

————-

ญาติมิตร-โดยเฉพาะท่านที่นิยมเล่นคาถา-ท่านใดพอจะทราบไหมครับว่า คาถา “นะมะพะทะ” ย่อมาจากอะไร?

จะช่วยกันตอบอย่างไรดี กรุณาอ่านเรื่องที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้

………………

คำว่า “จะภะกะสะ” ท่านเรียกกันว่า คาถากาสลัก ตัดมาจากข้อความเต็มๆ ดังนี้ –

ช ทุชฺชนสํสคฺคํ 

ช สาธุสมาคมํ 

ร ปุญฺญมโหรตฺตํ

ร นิจฺจมนิจฺจตํ. 

คำอ่าน

จะชะ ทุชชะนะสังสัคคัง 

ภะชะ สาธุสะมาคะมัง 

กะระ ปุญญะมะโหรัตตัง

สะระ นิจจะมะนิจจะตัง. 

จะ ภะ กะ สะ ตัดออกมาจากพยางค์แรกของแต่ละบาท

จะ – จะชะ ทุชชะนะสังสัคคัง 

ภะ – ภะชะ สาธุสะมาคะมัง 

กะ – กะระ ปุญญะมะโหรัตตัง

สะ – สะระ นิจจะมะนิจจะตัง. 

อธิบาย :

คาถานี้แต่งเป็นปัฐยาวัตฉันท์ กำหนดคำบาทละ ๘ พยางค์ (ลองนับดู) 

แต่ที่พิเศษคือแต่งเป็นกลบท

คำว่า “กลบท” หมายถึงคําประพันธ์ที่บัญญัติให้ใช้คําหรือสัมผัสเป็นชั้นเชิงยิ่งกว่าธรรมดา 

อย่างในคาถานี้ ใช้คำกริยาเป็นคำลหุ ๒ พยางค์ขึ้นต้นบาทเหมือนกันทั้ง ๔ บาท 

จช = จงละทิ้ง

ภช = จงคบหา

กร = จงกระทำ

สร = จงระลึก

คำแปล :

ช ทุชฺชนสํสคฺคํ = จงสละละทิ้งการคบหาคนชั่ว

ช สาธุสมาคมํ = จงคบหาสมาคมกับคนดี

ร ปุญฺญมโหรตฺตํ = จงทำบุญทุกวันคืน

ร นิจฺจมนิจฺจตํ. = จงระลึกถึงความไม่แน่นอนไว้เป็นนิตย์

——————

คณะผู้รักษาอุโบสถศีลวัดมหาธาตุราชบุรี พอทำวัตรเย็น สวดมนต์เย็น กรวดน้ำครบถ้วนแล้ว ก่อนจะกราบพระพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง จะสวดคาถาบทนี้ แต่เอาคาถาพระจักขุบาลมาเป็นบทนำก่อน

คาถาพระจักขุบาลที่ว่านี้ก็คือถ้อยคำที่พระจักขุบาลสมัยที่ยังเป็นฆราวาส กำลังจะออกบวช ถูกน้องชายทัดทานว่ายังหนุ่มแน่นอยู่อย่าเพิ่งบวชเลย ท่านตอบว่า – 

ชราชชฺชริตา โหนฺติ 

หตฺถปาทา อนสฺสวา 

ยสฺส โส วิหตตฺถาโม

กถํ ธมฺมํ จริสฺสติ.

(ชะราชัชชะริตา โหนติ 

หัตถะปาทา อะนัสสะวา 

ยัสสะ โส วิหะตัตถาโม

กะถัง ธัมมัง จะริสฺสะติ)

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ จักขุปาลเถรวตฺถุ

คำแปล :

ผู้ใดแก่หง่อมเพราะชรา

มือเท้าว่าไม่ฟัง (คือใช้งานไม่ได้ดังใจ)

ผู้นั้นเรี่ยวแรงเสื่อมถอยหมดแล้ว

จักประพฤติปฏิบัติธรรมกระไรได้

……………..

เอาคาถา ๒ บทนี้มาสวดปิดท้าย พร้อมทั้งคำแปลเป็นกาพย์กลอนดังนี้ –

ชราชชฺชริตา โหนฺติ 

หตฺถปาทา อนสฺสวา 

ยสฺส โส วิหตตฺถาโม

กถํ ธมฺมํ จริสฺสติ.

ตอนมีแรงไม่เร่งทำ

พอแก่หงำจะทำไง

มือเท้าก้าวไม่ไหว

จะเอาอะไรประพฤติธรรม.

จช ทุชฺชนสํสคฺคํ 

ภช สาธุสมาคมํ 

กร ปุญฺญมโหรตฺตํ

สร นิจฺจมนิจฺจตํ. 

จงละทิ้งคนพาลอย่าผ่านพบ

จงเลือกคบคนดีทวีผล

จงทำบุญทุกวันคืนชื่นกมล

จงเตือนตนหมั่นคิดอนิจจัง.

……………..

เป็นอันว่าเราบอกได้ว่า คาถา “จะภะกะสะ” มาจากไหน มีความหมายอย่างไร 

เวลาไปเห็นในที่บางแห่งเขียนเป็น “จะพะกะสะ

คือ –พะ– ใช้ พ พาน 

เราก็บอกได้ว่า เขียนผิด 

แม้คนเขียนหรือคนคัดลอกมาจะอ้างยืนยันว่าต้นฉบับเขียนอย่างนี้ (-พะ- ใช้ พ พาน) 

เราก็ยืนยันกลับไปได้เลยว่าต้นฉบับนั้นเขียนผิด และควรจะแก้เสียให้ถูก ไม่ใช้เอาแต่ยืนยันว่าต้นฉบับเขียนอย่างนี้ แล้วก็คงเขียนผิดๆ กันต่อไปอีก 

ต่อไป ถ้าอยากทราบว่าคาถากาสลักนั้นยกมาจากคัมภีร์อะไร หรือใครเป็นผู้แต่ง ก็สืบสวนค้นคว้ากันต่อไปอีกชั้นหนึ่ง จะได้ความว่าอย่างไรหรือไม่ได้ความอย่างไรก็ว่ากันไปในชั้นนั้น 

แต่ถึงอย่างไรก็ได้หลักฐานไว้ชั้นหนึ่งแล้วว่าคำว่า “จะภะกะสะ” มาจากไหน ไม่ต้องเดากันสะเปะสะปะต่อไปอีก

——————–

หรืออย่างคาถากันขโมยที่ท่องกันมาว่า –

…………..

ฆเฏสิ ฆเฏสิ กึการณา ฆเฏสิ

อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ. 

(ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงการะณา ฆะเฏสิ

อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ)

…………..

สืบดูก็รู้ได้ว่ามาจากประวัติพระจูฬปันถกที่พระพุทธองค์นำมาตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒ จูฬปนฺถกตฺเถรวตฺถุ

เรื่องย่อๆ ว่า ชาติหนึ่งพระจูฬปันถกเกิดเป็นมาณพชาวเมืองพาราณสี ไปเรียนวิชาที่สำนักตักกสิลา แต่เป็นคนปัญญาทึบ เรียนอยู่นานจนเพื่อนจบไปหมดแล้วก็ยังไม่จบ อาศัยที่เป็นคนนิสัยดี อาจารย์รัก อาจารย์เป็นห่วงว่าจะไม่ได้วิชาอะไรติดตัวกลับไป จึงผูกคาถาบทหนึ่งให้ท่อง จนแน่ใจว่าศิษย์ท่องจำได้แม่นยำแน่แล้วจึงให้เดินทางกลับบ้านเมือง แต่เพราะเกรงว่าศิษย์จะลืมคาถา จึงสั่งกำชับไปว่า ตื่นนอนเวลาไหนให้ท่องเวลานั้น และให้หมั่นทบทวนไว้เสมอ มาณพกลับถึงบ้านเมืองก็ปฏิบัติตามคำสั่งอาจารย์อย่างเคร่งครัด

ตอนค่ำวันหนึ่ง พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงปลอมพระองค์สืบความเป็นไปของบ้านเมือง ไปถึงบ้านมาณพนั้น เห็นขโมยกำลังเข้าบ้าน เป็นเวลาที่มาณพตื่นขึ้นพอดี มาณพไม่รู้ว่าขโมยเข้าบ้าน แต่ปฏิบัติตามที่อาจารย์สั่งไว้ คือท่องคาถาดังๆ ขโมยได้ยินเข้าใจว่าเจ้าของบ้านรู้ตัวแล้ว จึงเผ่นหนีไป พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงเห็นเหตุการณ์ตลอดแล้วจึงรับสั่งให้นำตัวมาณพมาเฝ้า แล้วขอเรียนคาถากับมาณพ 

เสนาบดีของพระเจ้ากรุงพาราณสีวางแผนปลงพระชนม์โดยติดสินบนเจ้าพนักงานภูษามาลาให้เชือดพระศอในเวลาถวายทรงพระเครื่องใหญ่ (คือตัดผม) เมื่อเสนาบดีได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะตั้งเจ้าพนักงานภูษามาลาให้เป็นเสนาบดี 

เมื่อถึงวันถวายทรงพระเครื่องใหญ่ พระเจ้ากรุงพาราณสีประทับรอเจ้าพนักงานภูษามาลาลับมีดโกน ระหว่างรอก็ทรงท่องคาถาบทนั้น เจ้าพนักงานภูษามาลาเข้าใจว่าพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงรู้แผนการนั้นแล้วจึงทูลรับสารภาพ พระเจ้ากรุงพาราณสีรับสั่งให้เนรเทศเสนาบดีแล้วพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีให้มาณพนั้น

คาถาบทนั้นแปลเป็นไทยว่าดังนี้ –

ฆเฏสิ ฆเฏสิ = ท่านพยายามไปเถิด พยายามไปเถิด

กึการณา ฆเฏสิ = เพราะเหตุไรท่านจึงพยายาม 

อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ. = แม้เราก็รู้เหตุนั้น เรารู้อยู่

แปลสั้นๆ ว่า – ท่านกำลังทำอะไรอยู่ เรารู้นะ

…………..

ฆเฏสิ ฆเฏสิ กึการณา ฆเฏสิ

อหํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ. 

(ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงการะณา ฆะเฏสิ

อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ)

…………..

คาถาบทนี้ต้นฉบับในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถาธรรมบท) ท่านว่าแบบนี้ ถ้าไปเจอที่ไหนเขียนผิดไปจากนี้ เราก็จะรู้ได้ว่าผิด ถ้าช่วยกันทักท้วงแก้ไขได้ ก็ควรช่วยกันทำ จะได้ไม่เอาไปใช้กันผิดๆ แล้วถ้ามีคนอ้างว่าฉบับโน้นของหลวงพ่อโน้นท่านว่าแบบโน้น เราก็บอกไปได้เลยว่าหลวงพ่อท่านจำมาผิด ฉบับที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

ที่ว่ามานี้คือตัวอย่างการหาที่มาของคาถา

——————–

ทีนี้มาถึงคาถา นะมะพะทะ ย่อมาจากอะไร

ผมไม่ได้ตั้งปัญหาเอง แต่มีญาติมิตรท่านหนึ่งสอบถามมา แล้วผมก็ไม่ทราบจริงๆ

……………

ท่านผู้ถามให้ข้อมูลเบื้องต้นมาว่า –

นะมะพะทะ ทางหนึ่งบอกว่า นอบน้อมพุทธะ

อีกทางหนึ่งบอกว่า ธาตุทั้งสี่

……………

ผมได้ยินพูดกันมานานนักหนาแล้วว่า เป็นคาถาไหว้พระพุทธเจ้า บางท่านบอกต่อไปอีกว่าย่อมาจาก นโม พุทฺธาย (นะโม พุทธายะ) 

ทำไม นโม พุทฺธาย จึงย่อเป็น นะมะพะทะ ?

นโม” ย่อเป็น “นะมะ” พอฟังได้ 

นโม – นะมะ พยัญชนะตรงกัน

แต่ “พุทฺธาย” ย่อเป็น “พะทะ” นี่ฟังไม่ได้

เว้นแต่จะบอกว่า “พุทฺธาย” คนเก่าท่านอ่านว่า พุด-ทาย ท่านจึงย่อเป็น “พะทะ” 

ถ้าเป็นจริง คำนี้ก็ควรจะสะกดเป็น “นะมะพะธะ” คือ ใช้ “ธะ” ธ ธง ไม่ใช่ “ทะ” ท ทหาร

แต่จะสรุปกันง่ายๆ อย่างนี้คงไม่ได้ เหตุผลต้องมีมากกว่านี้

ตรงนี้แหละครับที่ใคร่ขอแรงญาติมิตร-โดยเฉพาะท่านที่เป็นมหาเปรียญ และโดยเฉพาะท่านที่ได้ประโยคสูงๆ ขอแรงช่วยกันศึกษาสืบค้นหน่อยนะครับ 

เหตุผลที่ต้องขอแรงกัน ก็มีเพียงประการเดียวคือ เมื่อเรียนบาลีมาแล้วก็ควรใช้วิชาให้คุ้มค่า 

จริงอยู่ ในหลักสูตรท่านไม่ได้สอนวิธีค้นที่มาของคาถา และที่เรียนบาลีก็ไม่ได้เรียนเพื่อใช้ค้นที่มาของคาถา

แต่คาถาต่างๆ ที่ “เล่น” กันอยู่ในสังคมไทยล้วนแต่เป็นภาษาบาลี แม้คาถาหลายๆ บทจะมีคำไทยประสมอยู่ด้วย แต่ก็มีคำบาลีอยู่ด้วยทั้งนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของนักเรียนบาลี 

ถ้าบอกว่าเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปค้นพระคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ เพื่อสืบอายุพระศาสนา ไม่ใช่เอามาค้นคาถา 

ก็ขอกราบอนุโมทนาสาธุ

แต่เท่าที่สดับตรับฟังดู ส่วนมาก-หรือแทบทั้งหมด-ไม่ได้ทำเช่นว่านั้น

แต่เรียนเพื่อสอบได้

สอบได้แล้วก็จบ 

ค้นคว้าพระไตรปิฎก ก็ไม่ได้ทำ

ขอแรงให้ช่วยค้นเกี่ยวกับภาษาบาลี-เช่นเรื่องพระคาถาต่างๆ-ก็เงียบ

ก็เลยเป็นอย่างที่ผมเคยปรับทุกข์ไว้-เรียนหมอ จบหมอ แต่ไม่รักษาคนป่วย 

แบบนี้น่ากลุ้มนะขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ เมษายน ๒๕๖๑

๑๑:๑๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *