บาลีวันละคำ

เกษียรสมุทร (บาลีวันละคำ 2,127)

เกษียรสมุทร

อ่านว่า กะ-เสียน-สะ-หฺมุด

ประกอบด้วยคำว่า เกษียร + สมุทร

(๑) “เกษียร

บาลีเป็น “ขีร” (ขี-ระ) รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + อีร ปัจจัย

: ขี + อีร = ขีร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สิ้นไปด้วยการรีด” หมายถึง นม, น้ำนม, นมสด (milk, milky fluid, milky juice)

บาลี “ขีร” สันสกฤตเป็น “กฺษีร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กฺษีร : (คำนาม) ‘เกษียร, กเษียร,’ น้ำ; นม; water; milk.”

ขีร > กฺษีร ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “เกษียร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกษียร : (คำแบบ) (คำนาม)  นํ้านม. (ส. กฺษีร; ป.ขีร).”

โปรดระวัง :

เกษียร” คำนี้ เรือ สะกด เพราะแผลงมาจาก “กฺษีร” อย่าเขียนเป็น “เกษียณ

เกษียณ” ณ เณร สะกด แผลงมาจาก “กฺษีณ” แปลว่า สิ้นไป เป็นคนละคำกับ “เกษียร เรือ สะกด

(๒) “สมุทร

บาลีเป็น “สมุทฺท” (สะ-มุด-ทะ) รากศัพท์มาจาก

(1) สํ แทนศัพท์ “สม” = สม่ำเสมอ) + อุทฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สม)

: สํ > สม + อุทฺ = สมุทฺ + = สมุทฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่ที่ยังฝั่งให้เต็มอยู่เสมอ” (2) “ที่เป็นที่มีความเค็มด้วยน้ำสม่ำเสมอ

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ดี) + อุทิ (ธาตุ = ไหลไป) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สม), “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ (อุ)-ทิ (อุทิ > อุท)

: สํ > สม + อุทิ = สมุทิ > สมุท + = สมุทฺท แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไหลไปรวมกันแห่งน้ำ

สมุทฺท” (ปุงลิงค์) ในบาลีหมายถึง –

(1) น้ำปริมาณมาก, เช่น แม่น้ำคงคา; (a large quantity of water, e. g. the Ganges)

(2) ทะเล, มหาสมุทร (the sea, the ocean)

บาลี “สมุทฺท” สันสกฤตเป็น “สมุทฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สมุทฺร : (คำนาม) ‘สมุทร์,’ สาคร, มหาชลธิ, ห้วงน้ำใหญ่; a sea, an ocean.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สมุทร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมุทร ๑, สมุทร– : (คำนาม) ทะเลลึก; เรียกทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งมีแผ่นดินโอบล้อมเป็นตอน ๆ ว่า มหาสมุทร เช่น มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก. (ส.; ป. สมุทฺท).”

เกษียร + สมุทร = เกษียรสมุทร แปลว่า “ทะเลแห่งน้ำนม” หมายความว่า (1) น้ำนมมีปริมาณมากมายจนเหมือนกับเป็นทะเล หรือ (2) ทะเลพิเศษ คือแทนที่น้ำทะเลจะเป็นน้ำเค็มเหมือนทะเลธรรมดา ก็กลับเป็นน้ำนมหรือมีสีขุ่นขาวเหมือนน้ำนม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกษียรสมุทร : (คำนาม) ทะเลนํ้านม, ที่ประทับของพระนารายณ์. (ส. กฺษีร + สมุทฺร).”

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๓ อธิบายเรื่อง “เกษียรสมุทร” ไว้ดังนี้ –

…………..

เกษียรสมุทร : ทะเลน้ำนมอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ ไตรภูมิเรียกว่า ขีรสาคร คู่กับนิลสาครหรือโลณสาครอยู่ทางทิศใต้ เกษียรสมุทรเป็นทะเลที่ประทับของของพระวิษณุนารายณ์เหนือหลังพระยาเศษนาค ทะเลนี้เทวดาและอสูรเคยร่วมกันกวนเพื่อให้เกิดน้ำอมฤต เรียกกันว่า กวนเกษียรสมุทร ในการกวนครั้งนั้นนอกจากได้ ๑. น้ำอมฤตแล้ว ยังได้ ๒. ธันวันตริ แพทย์เทวดาผู้ถือโถน้ำอมฤตผุดขึ้นมาจากสมุทร ๓. ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภและความงาม และเป็นชายาของพระวิษณุนารายณ์ ๔. สุรา เทวีแห่งน้ำเมา ลางทีก็เรียกว่า วารุณี และมหาเทวี เป็นชายาแห่งพระวรุณ ๕. พระจันทร ๖. นางอัปสรรัมภา ผู้ทรงความงามเป็นที่น่ารักอย่างยิ่ง ๗. อุจไฉหศรพ ม้าวิเศษของพระอินทร์สีขาว ๘. เกาสตุภ มณีวิเศษเป็นเครื่องประดับพระนาภีของพระวิษณุหรือพระกฤษณ์ ๙. ต้นปาริชาตบนสวรรค์ ๑๐. สุรภี โคสารพัดนึก ๑๑. ไอราวัต คือช้างเอราวัณของพระอินทร์ ๑๒. สังข์ชัย ๑๓. ธนูวิเศษ และยาพิษ ซึ่งพระศิวะทรงกลืนไว้เพราะเกรงว่าจะทำลายชีวิตสัตว์ให้หมดไป ขณะทรงกลืน พิษเผาพระศอพระศิวะจนดำเขียว เหตุนี้ พระศิวะจึงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า นิลกัณฐ์ คือ พระผู้มีศอนิล. ส.ก.

…………..

หมายเหตุ: อักษรย่อ “ส.ก.” ข้างท้ายหมายถึง “เสฐียรโกเศศ” เป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ใช่พระนารายณ์ไม่มีสิทธิ์นอนทะเลนม

: ไม่มีสติปัญญาแหลมคมไม่มีสิทธิ์ข้ามทะเลวน (คือการเวียนเกิดเวียนตาย)

#บาลีวันละคำ (2,127)

9-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *