บาลีวันละคำ

นามสมณศักดิ์ (บาลีวันละคำ 1,997)

นามสมณศักดิ์

เมื่อไรจะเลิกซื่อบื้อ

ว่าเป็นชื่อกับนามสกุล

คำว่า “นามสมณศักดิ์” หมายถึง ชื่อของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

คำว่า “สมณศักดิ์” ประกอบด้วยคำว่า สมณ (นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต) + ศักดิ์ (อํานาจ, ความสามารถ, กำลัง, ฐานะ) = สมณศักดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “อำนาจตามวิสัยของสมณะ” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้เฉพาะในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณศักดิ์ : (คำนาม) ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกําหนด.”

ดูเพิ่มเติม: “สมณศักดิ์” บาลีวันละคำ (1,305) 25-12-58

เพื่อความคุ้นเคย ขอให้ลองอ่านนามสมณศักดิ์เหล่านี้ –

พระพรหมเสนาบดี

พระธรรมสิงหบุราจารย์

พระเทพประสิทธิมนต์

พระราชธรรมาภรณ์

พระมงคลสิทธิญาณ

พระอุทัยธรรมานุวัตร

พระครูประโชติวชิรากร

พระครูวิวิธกาญจนคุณ

พระครูนิเทศพัฒนาภรณ์

พระครูนิกรธรรมวงศ์

พระครูนิวิฐธรรโมภาส

พระครูนิวาสธรรมโสภณ

นามสมณศักดิ์” มีคำเรียกว่า “ราชทินนาม” (ราด-ชะ-ทิน-นะ-นาม) ประกอบด้วยคำว่า ราช (พระราชา) + ทิน (บาลีคำเดิมเป็น “ทินฺน” แปลว่า ให้แล้ว, สิ่งที่ถูกให้ไป) + นาม = ราชทินฺนนาม > ราชทินนาม แปลตามศัพท์ว่า “ชื่ออันพระราชาให้แล้ว” คือชื่อที่ได้รับพระราชทาน

ดูเพิ่มเติม: “ราชทินนาม” บาลีวันละคำ (382) 31-5-56

นามสมณศักดิ์” หรือ “ราชทินนาม” ดังกล่าวนี้ อาจตั้งขึ้นตามคุณสมบัติของพระสงฆ์รูปนั้นๆ หรือตั้งให้มีความหมายเกี่ยวกับเมืองที่พระสงฆ์รูปนั้นอยู่ เช่น –

พระอุทัยธรรมานุวัตร” เป็นนามสมณศักดิ์พระสงฆ์จังหวัดอุทัยธานี

พระครูประโชติวชิรากร” เป็นนามสมณศักดิ์พระสงฆ์จังหวัดเพชรบุรี

พระครูวิวิธกาญจนคุณ” เป็นนามสมณศักดิ์พระสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี

เฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ มีหลักนิยมพิเศษ กล่าวคือ นามสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรของพระสงฆ์ในจังหวัดนี้จะขึ้นต้นด้วยว่า “นิ-” เสมอ เช่น

พระครูนิเทศพัฒนาภรณ์

พระครูนิกรธรรมวงศ์

พระครูนิวิฐธรรโมภาส

พระครูนิวาสธรรมโสภณ

(ดูภาพประกอบ)

บาลีวันละคำวันนี้ตั้งใจจะชี้ให้เห็นปัญหานามสมณศักดิ์กับการเขียนของสื่อมวลชน นั่นคือ นามสมณศักดิ์เป็นกลุ่มคำ จึงต้องเขียนติดกันเป็นคำเดียว แต่สื่อมวลชนทั่วไปเมื่อจะเขียนนามสมณศักดิ์ มักจะจัดการแยกเป็น 2 คำเสมอ ดังนามสมณศักดิ์ที่เสนอไว้ข้างต้นโน้น ถ้าให้สื่อมวลชนเขียน ก็จะเป็นดังนี้ –

พระพรหม  เสนาบดี

พระธรรม  สิงหบุราจารย์

พระเทพ  ประสิทธิมนต์

พระราช  ธรรมาภรณ์

พระมงคล  สิทธิญาณ

พระอุทัย  ธรรมานุวัตร

พระครูประโชติ  วชิรากร

พระครูวิวิธ  กาญจนคุณ

พระครูนิเทศ  พัฒนาภรณ์

พระครูนิกร  ธรรมวงศ์

พระครูนิวิฐ  ธรรโมภาส

พระครูนิวาส  ธรรมโสภณ

จะเห็นได้ว่า สื่อมวลชนพากันเข้าใจว่านามสมณศักดิ์นั้นเป็นชื่อคำหนึ่ง และเป็นนามสกุลอีกคำหนึ่ง

ได้มีความพยายามชี้แจ้งเรื่องนี้กันมานานแล้ว แต่ไม่เกิดผล ไม่ว่าจะพยายามชี้แจงอย่างไร อธิบายอย่างไร สื่อมวลชนก็ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างหนึ่งในวงการสื่อมวลชนบ้านเรา คือไม่ยอมศึกษาเรียนรู้ แต่พยายามเอาความเข้าใจผิดๆ ของตนเป็นที่ตั้ง

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีสื่อมวลชนฉบับใด แขนงใด รู้ความผิดพลาดของตนข้อนี้แล้วและได้แก้ไขเขียนถูกต้องดีแล้ว ผู้เขียนบาลีวันละคำขอคารวะมา ณ ที่นี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านทราบฤๅหาไม่ว่า บัณฑิตอาจไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปี

: เพียงแค่ยอมรับว่าเข้าใจผิด

: ก็ก้าวไปสู่ความเป็นบัณฑิตได้ทันที

#บาลีวันละคำ (1,997)

30-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย