บาลีวันละคำ

ชินาณาวรสงฺยุตฺตา (บาลีวันละคำ 1,999)

ชินาณาวรสงฺยุตฺตา

ชินาณาวรสงฺยุตฺตา” เป็นข้อความบาทหนึ่งในพระคาถาชินบัญชร ข้อความเต็มๆ ของพระคาถาบทนี้มีดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

ชินาณาวรสงฺยุตฺตา…….สตฺตปฺปาการลงฺกตา

วาตปิตฺตาทิสญฺชาตา….พาหิรชฺฌตฺตุปทฺทวา

อเสสา วินยํ ยนฺตุ……….อนนฺนชินเตชสา.

เขียนแบบคำอ่าน :

ชินาณาวะระสังยุตตา…..สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา…พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

อะเสสา  วินะยัง  ยันตุ….อะนันตะชินะเตชะสา.

คำแปล :

ขออัญเชิญพระปริตรและพระสูตร

อันประกอบด้วยอำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้า

ประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น

โรคภัยอุปัทวะทั้งภายนอกและภายใน

อันเกิดแต่เหตุมีโรคลมและโรคดีเป็นต้น

จงถึงความหมดสิ้นไปมิได้เหลือ

ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า

พระคาถาบาทนี้เท่าที่เห็นมา ส่วนมากจะเป็น “ชินานานาวรสงฺยุตฺตา” และบางทีก็แยกเป็น “ชินา  นานาวรสงฺยุตฺตา” บางฉบับคำว่า “วร” เป็น “พร” (พะระ) คือเป็น “ชินานานาพรสงฺยุตฺตา” คำว่า “วร” เป็น “พล” ก็มี คือเป็น “ชินา  นานาพลสงฺยุตฺตา

คำที่ถูกต้องตรงกันแน่ๆ ก็คือ “ชินา” ซึ่งศัพท์เดิมคือ “ชิน” (ชินะ) หมายถึงพระพุทธเจ้า คำที่ตรงกันอีกคำหนึ่งก็คือ “นานา” แปลว่า ต่างๆ “วร” ซึ่งอาจแผลงเป็น “พร” ได้ เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า “ประเสริฐ” คำว่า “นานาวรสงฺยุตฺตา” จะต้องแปลว่า “ประกอบพร้อมด้วย – ประเสริฐต่างๆ” ซึ่งยังไม่ทราบว่าประกอบด้วยอะไรที่ประเสริฐ ดังนั้น “นานาวรสงฺยุตฺตา” จึงมีปัญหาในเรื่องแปลไม่ได้ความหมาย

ถ้าเป็น “นานาพลสงฺยุตฺตา” แปลได้ความชัดเจน คือแปลว่า “ประกอบพร้อมด้วยกำลังต่างๆ

แต่ไม่ว่าจะเป็น “นานาวรสงฺยุตฺตา”  หรือ “นานาพลสงฺยุตฺตา” ข้อบกพร่องที่สำคัญก็คือ เมื่อรวมกับ “ชินา” แล้ว จำนวนคำเกิน 8 พยางค์โดยไม่มีเหตุอันควรยกเว้น หมายความว่า ฉันท์ชนิดนี้บางกรณีอาจมีคำเกิน 8 พยางค์ เป็น 9 พยางค์ได้บ้าง มีศัพท์เรียกว่า “นวักขริกะ” แปลว่า “มีเก้าอักขระ

เช่น “วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ” (วิริเยนะ  ทุกขะมัจเจติ) กรณีตัวอย่างนี้ท่านว่า คำว่า “วิริ” สามารถออกเสียงรวบรัดคล้ายๆ “วิร” (วิน) จึงยอมให้นับ “วิริ” เป็น 1 พยางค์ จึงเท่ากับยังเป็น 8 พยางค์อยู่นั่นเอง

แต่ “นานาวรสงฺยุตฺตา” หรือ “นานาพลสงฺยุตฺตา” ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กล่าวนี้ คำที่ดูคล้ายกับจะเข้าเกณฑ์ คือ “วร”  หรือ “พล” ถ้าจะอ่านรวบรัดเป็น “วัร” (วัน) หรือ “พัล” (พัน) ก็น่าจะได้ แต่ไม่ได้ เพราะ “” หรือ “” อยู่ในลำดับที่จะต้องเป็นคำลหุ (พยางค์ที่ 5 ของวรรคที่ 1 และวรรคที่ 3 จะต้องเป็นคำลหุ โปรดสังเกตดูวรรคทางซ้ายมือ) ดังนั้น จึงต้องออกเสียงเป็น “วะ-ระ” หรือ “พะ-ละ” ตรงตัว ซึ่งทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะยอมให้เป็น “นวักขริกะ” ได้

อีกประการหนึ่ง “ชิน” บวกกับ “นานา” ต้องเป็น “ชินนานา” จะเป็น “ชินานานา” ไม่ได้ ถ้าเป็น “ชินานานา–” ก็ไม่ทราบว่าจะแปลว่าอย่างไร

ถึงจะแยกเป็น “ชินา  นานาพลสงฺยุตฺตา” นอกจากจำนวนคำจะเกิน 8 พยางค์แล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องแปลอยู่นั่นเอง คือแม้จะแปลได้ว่า “พระชินเจ้าทรงประกอบพร้อมด้วยกำลังต่างๆ” แต่พอไปดูข้อความในวรรคต่อไป คือ “สตฺตปฺปาการลงฺกตา” (แปลว่า ประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น) ซึ่งเป็นคำขยายความของคำว่า “ชินา” ก็จะกลายเป็นว่า อัญเชิญพระพุทธเจ้ามาประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น หรือไม่ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้ามีกำแพงเจ็ดชั้นเป็นเครื่องประดับ ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น จึงต้องสรุปว่า “ชินานานาวรสงฺยุตฺตา” ก็ดี “ชินา นานาวรสงฺยุตฺตา” ก็ดี “ชินา  นานาพลสงฺยุตฺตา” ก็ดี ไม่ใช่คำที่ถูกต้อง

คำที่ถูกต้องก็คือ “ชินาณาวรสงฺยุตฺตา” ซึ่งประกอบด้วยคำว่า ชิน + อาณา = ชินาณา + วร = ชินาณาวร + สงฺยุตฺตา = ชินาณาวรสงฺยุตฺตา

อาณา” แปลว่า อำนาจ “วร” ขยายคำว่า “อาณา” = “อาณาวร” แปลว่า อำนาจอันประเสริฐ หมายถึงพลังอำนาจในทางธรรมคือคุณงามความดี ไม่ใช่อำนาจในทางร้าย “ชินาณาวร” จึงแปลว่า “อำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้า

ชินาณาวรสงฺยุตฺตา  สตฺตปฺปาการลงฺกตา” ขยายความคำว่า “พระปริตรและพระสูตร” (ซึ่งโยคเข้ามา) จึงแปลว่า “ขออัญเชิญพระปริตรและพระสูตรอันประกอบด้วยอำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้ามาประดับเป็นกำแพงเจ็ดชั้น

คำว่า “ชินาณา” นั้น ถ้าฟังแต่เสียง ก็อาจเข้าใจไปได้ว่าเป็นคำ ชิ + นานา เพราะเราคุ้นกับคำว่า “นานา” มากกว่า “อาณา” และตามความรู้เดิม “ชิน” เป็นนามของพระพุทธเจ้า

จาก ชิ + นานา ก็เลยเข้าใจไปว่าต้องเป็น ชิน + นานา = ชินนานา (ชินะนานา) และเมื่อหมายถึงพระพุทธเจ้าหลายองค์ “ชิน” ก็ต้องเป็น “ชินา” ก็จึงเข้าใจผิดเป็น “ชินานานา” ไปด้วยประการฉะนี้

สรุปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือ พระคาถาวรรคนี้ไม่มีคำว่า “นานา” แต่อย่างใดทั้งสิ้น มีแต่คำว่า “อาณา” และมีคำว่า “ชิน” (ชินะ) อยู่ข้างหน้า “ชิน” บวกกับ “อาณา” ก็เป็น “ชินาณา” บวกกับ “วร” (วะระ) เป็น “ชินาณาวร” บวกกับ “สงฺยุตฺต” (แปลว่า ประกอบพร้อม) เป็น “ชินาณาวรสงฺยุตฺต” แจกรูปตามพหุวจนะ ปุงลิงค์ เป็น “ชินาณาวรสงฺยุตฺตา” เขียนตามคำอ่านว่า “ชินาณาวะระสังยุตตา” แปลทั้งวรรคว่า “ประกอบด้วยอำนาจอันประเสริฐของพระชินเจ้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำปด ลดคุณค่าของวาจาสิทธิ์

: คำผิด ลดความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถา

#บาลีวันละคำ (1,999)

2-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย