รัตนโกสินทร์ (บาลีวันละคำ 2,139)
รัตนโกสินทร์
อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-โก-สิน
ประกอบด้วยคำว่า รัตน + โกสินทร์
(๑) “รัตน”
บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ติ ที่ รติ (รติ > ร)
: รติ + ตนฺ = รติตน + ณ = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้
(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน”
(3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > น)
: รติ + นี = รตินี + อ = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี”
(4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น อะ (รติ > รต), ลบ ช ต้นธาตุ (ชนฺ > น)
: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + อ = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
รตน > รัตน > รัตน์ ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง ถ้าใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี
(๒) “โกสินทร์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“โกสินทร์ : (คำนาม) พระอินทร์. (ตัดมาจาก ป. โกสิย + ส. อินฺทฺร).”
อธิบายศัพท์ตามนัยแห่งพจนานุกรมฯ :
(1) “โกสิย” คำเดิมจากจาก โกส + อิย ปัจจัย
(ก) “โกส” (โก-สะ) รากศัพท์มาจาก –
1) กุ (ศัสตราวุธ) + สิ (ธาตุ = อยู่, ผูก, มัด) + อ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ (กุ > โก), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส)
: กุ + สิ = กุสิ + อ = กุสิ > โกสิ > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่อยู่แห่งศัสตรา” (2) “ที่เป็นที่ผูกศัสตราไว้”
2) กุสฺ (ธาตุ = ตัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุสฺ >โกส)
: กุสฺ + ณ = กุสณ > กุส > โกส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่พึงขลิบออก” (2) “ส่วนที่ควรตัด” (คือควรแบ่งกัน)
ความหมายเดิมของ “โกส” คือ โพรง, ช่องหรือกล่อง, ที่ล้อมซึ่งมีอะไรก็ตามอยู่ภายใน (any cavity or enclosure containing anything)
ความหมายที่คลี่คลายมาจนลงตัวแล้ว คือ :
(1) ห้องเก็บของหรือคลังพัสดุ, คลังหรือฉาง (a store-room or storehouse, treasury or granary)
(2) ฝักมีด (a sheath)
(3) ภาชนะหรือชามข้าว (a vessel or bowl for food)
(4) รังไหมรอบตัวดักแด้ (a cocoon)
(5) หนังหุ้มอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (หนังหุ้มปลาย) (the membranous cover of the male sexual organ, the praeputium)
ในที่นี้ “โกส” มีความหมายตามข้อ (1)
(ข) โกส + อิย ปัจจัย
: โกส + อิย = โกสิย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีคลังสมบัติ” หมายถึง คนรวย, เศรษฐี, ท้าวโกสีย์ (คือพระอินทร์)
ในที่นี้ “โกสิย” หมายถึง พระอินทร์
(2) “อินฺทฺร”
บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + นิคหิตอาคม + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น น, ลบสระที่สุดธาตุ
: อิทิ > อึทิ (อิง-ทิ) > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลว่า “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง พระอินทร์, ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา (The Vedic god Indra; lord, chief, king)
ในที่นี้ “อินฺท” ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อินทร”
โกสิย + อินทร ลบ ย ที่ โกสิย (โกสิย > โกสิ)
: โกสิย > โกสิ + อินทร = โกสินทร แปลว่า “ท้าวโกสีย์ผู้เป็นเจ้า”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง “โกสินทร์” เป็นคำซ้ำความหมาย เพราะทั้ง “โกสิย” และ “อินทร” หมายถึง พระอินทร์ ทั้ง 2 คำ
รัตน + โกสินทร์ = รัตนโกสินทร์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“รัตนโกสินทร์ : (คำนาม) นามส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครฯ ที่มีชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์, อีกนัยหนึ่งหมายความถึงกรุงเทพฯ มักอ้างในประวัติศาสตร์ เช่น สมัยรัตนโกสินทร์.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดข้อความว่า “อีกนัยหนึ่งหมายความถึงกรุงเทพฯ มักอ้างในประวัติศาสตร์ เช่น สมัยรัตนโกสินทร์” ออก (คณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ คงมีเหตุผลในการตัด แต่ประชาชนที่ใช้พจนานุกรมฯ ไม่มีโอกาสได้รับทราบ)
สันนิษฐาน :
คำว่า “รัตนโกสินทร์” นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวเนื่องกับ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมาคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่เริ่มตั้งกรุง เนื่องจากตำนานกล่าวว่า พระพุทธปฏิมาองค์นี้ซึ่งเป็นแก้วมรกต-ดังที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “พระแก้วมรกต”-เป็นแก้วที่พระอินทร์นำมาถวายให้แกะเป็นพระพุทธปฏิมา
คำว่า “รัตนโกสินทร์” นี้ แปลตามศัพท์ก็คือ “แก้วของพระอินทร์” นั่นเอง
ชื่อ “กรุงรัตนโกสินทร์” จึงมีความหมายโดยนัยว่า เมืองที่มีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง
…………..
วันที่ 21 เมษายน พระพุทธศักราช 2325
ประดิษฐานเสาพระหลักเมืองอันเป็นนิมิตหมายแห่งการประดิษฐานกรุงเทพมหานครฯ
วันที่ 21 เมษายน พระพุทธศักราช 2561
สมโภช 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แม่อุ้มท้องเรามา 10 เดือน
เราสอนกันให้กราบแม่วันละ 10 ครั้ง
: กรุงรัตนโกสินทร์อุ้มท้องคนไทยมา 236 ปี
เคยคิดจะกราบแผ่นดินนี้กันบ้างหรือยัง?
————
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,139)
21-4-61