วิจัย (บาลีวันละคำ 2,170)
วิจัย
อ่านว่า วิ-ไจ
บาลีเป็น “วิจย” (วิ-จะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน) + จิ (ธาตุ = สะสม, เจริญ, รวบรวม, ก่อสร้าง) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อย (จิ > จย)
: วิ + จิ = วิจิ > วิจย + อ = วิจย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรวบรวมโดยวิธีแยกแยะ” หมายถึง การเลือก, การวิจัย, การตรวจสอบ (search, investigation, examination)
บาลี “วิจย” สันสกฤตก็เป็น “วิจย” เช่นเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิจย : (คำนาม) ‘วิจัย,’ การแสวงหาหรือค้น; search or research.”
“วิจย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) วิจัย ๑ : (คำนาม) การสะสม, การรวบรวม. (ป., ส.).
(2) วิจัย ๒ : (คำนาม) การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา เช่น วิจัยเรื่องปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร. (คำกริยา) ค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา เช่น เขากำลังวิจัยเรื่องมลพิษทางอากาศอยู่. (คำวิเศษณ์) ที่ค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา เช่น งานวิจัย. (อ. research).
“วิจัย” ๑ พจนานุกรมฯ บอกว่ามาจากบาลีสันสกฤต ก็คือมาจาก “วิจย” ส่วน “วิจัย” ๒ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร แต่บอกคำอังกฤษไว้ว่า research
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล research ว่า สืบเสาะ, ค้นหว้าหาความรู้, วิจัย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล research เป็นบาลีดังนี้ –
(1) anvesanā อนฺเวสนา (อัน-เว-สะ-นา) การแสวงหา, การค้นหา, การสืบสวน (seeking, searching, investigation)
(2) gavesanā คเวสนา (คะ-เว-สะ-นา) การแสวงหา, การตามหา (search for)
(3) magganā มคฺคนา (มัก-คะ-นา) การตามหาหรือแสวงหา, ความอยากได้ tracking, search for, covetousness
(4) vicāraṇā วิจารณา (วิ-จา-ระ-นา) (1) การสืบสวน, การแสวงกา, การเอาใจใส่ (investigation, search, attention) (2) การจัดแจง, การวางแผน, การดูแล; แผนการ (arranging, planning, looking after; scheme)
(5) vicaya วิจย (วิ-จะ-ยะ) การค้นคว้า, การวิจัย (research, investigation)
“วิจัย” ที่คุ้นกันในหมู่นักธรรมะคือคำว่า “ธรรมวิจัย” ซึ่งมาจากคำบาลีว่า “ธมฺมวิจย” (ทำ-มะ-วิ-จะ-ยะ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมวิจย” ว่า investigation of doctrine, religious research (การวิจัยธรรม, การค้นคว้าทางศาสนา)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ธรรมวิจัย” เป็นอังกฤษว่า investigation of the Truth or the Doctrine; research on the Dhamma; search of Truth.
…………..
เชื่อกันว่าการวิจัยจะช่วยให้มนุษย์คนพบวิธีสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อันจะอำนวยความสุขความเจริญให้แก่โลก
แต่งานวิจัยที่ทำกันมาเป็นเรื่องวิจัยออกไปนอกตัวเองทั้งสิ้น
งานวิจัยสำคัญที่สุด แต่นักวิจัยทั้งหลายมองข้ามไปก็คือ วิจัยเข้ามาในชีวิตจิตใจของตัวผู้วิจัยเอง
งานวิจัยประเภทนี้น่าจะยังไม่เคยปรากฏในวงการวิจัยไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิจัยกิเลสของตัวเอง
: คือยอดนักเลงแห่งวงการวิจัย
#บาลีวันละคำ (2,170)
22-5-61