พรหมทัณฑ์ (บาลีวันละคำ 2,143)
พรหมทัณฑ์
การลงโทษแบบอารยชน
อ่านว่า พฺรม-มะ-ทัน
ประกอบด้วยคำว่า พรหม + ทัณฑ์
(๑) “พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ม ปัจจัย
: พฺรหฺ + ม = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)
(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)
(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)
(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])
(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)
ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง –
(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น
(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)
คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร ?
ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี
แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ
(๒) “ทัณฑ์”
บาลีเป็น “ทณฺฑ” อ่านว่า ทัน-ดะ (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก :
(1) ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ข่ม, ทรมาน) + ฑ ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ
: ทมฺ > ทณฺ + ฑ = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน” หมายถึง การลงทัณฑ์, การทรมาน, การลงอาญา, การถูกปรับ
(2) ทฑิ (ธาตุ = ตี, ประหาร) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + ก = ทณฺฑก > ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี” หมายถึง ท่อนไม้, ไม้เท้า, ไม้เรียว
“ทณฺฑ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลัก 2 อย่าง คือ ไม้ที่หยิบถือได้ (a stick, staff, rod) และ การลงโทษ (punishment)
ในที่นี้ “ทณฺฑ” หมายถึงการลงโทษ
พฺรหฺม + ทณฺฑ = พฺรหฺมทณฺฑ แปลว่า “การลงโทษอย่างผู้ประเสริฐ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พฺรหฺมทณฺฑ” ว่า “the highest penalty,” a kind of severe punishment [temporary deathsentence?] (“พรหมทัณฑ์”, การลงโทษที่สูงสุดอย่างหนึ่ง [การลงโทษหนักชั่วคราว ?])
บาลี “พฺรหฺมทณฺฑ” ในภาษาไทยใช้เป็น “พรหมทัณฑ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พรหมทัณฑ์ : (คำนาม) ตามศาสนาพราหมณ์หมายความว่า “ไม้พระพรหม” ชื่อศัสตรากายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง; การสาปแห่งพราหมณ์; โทษอย่างสูง คือห้ามไม่ให้ใคร ๆ พูดด้วยในหมู่สงฆ์ด้วยกัน. (ส., ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “พรหมทัณฑ์” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –
พรหมทัณฑ์ : (Brahmadaṇḍa) lit. sublime punishment; punishment by suspending or breaking off conversation and communication; sanctioned punishment by silent treatment.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “พรหมทัณฑ์” ไว้ดังนี้ –
“พรหมทัณฑ์ : โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งสอนภิกษุรูปนั้น, พระฉันนะซึ่งเป็นภิกษุเจ้าพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบหายพยศได้.”
ขยายความ :
คำที่มีความหมายทำนองเดียวกับ “พรหมทัณฑ์” คือ “คว่ำบาตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คว่ำบาตร : (สํานวน) (คำกริยา) ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย, เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต เป็นต้น.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “คว่ำบาตร” ไว้ดังนี้ –
“คว่ำบาตร : การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วย คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม, บุคคลต้นบัญญัติ คือวัฑฒลิจฉวี ซึ่งถูกสงฆ์คว่ำบาตร เพราะโจทพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติอันไม่มีมูล, คำเดิมตามบาลีว่า ปัตตนิกกุชชนา.”
สรุปเป็นหลักว่า –
“พรหมทัณฑ์” เป็นวิธีลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุด้วยกัน
“คว่ำบาตร” เป็นวิธีลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่คฤหัสถ์
ดูเพิ่มเติม: “คว่ำบาตร” บาลีวันละคำ (1,115) 13-6-58
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เป็นวิธีแก้ตัวแบบคนขลาด
: “คว่ำบาตร” เป็นวิธีสั่งสอนแบบอารยชน
————–
ภาพประกอบ: จากภาพประกอบความคิดเห็นของ ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์ ท้ายบทความเรื่อง “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” 25 เมษายน 2561
#บาลีวันละคำ (2,143)
25-4-61