อิทัปปัจจยตา (บาลีวันละคำ 2,148)
อิทัปปัจจยตา
ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่ง่ายที่จะเข้าถึง
อ่านว่า อิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา
ประกอบด้วยคำว่า อิท + ปัจจย + ตา
(๑) “อิท”
บาลีอ่านว่า อิ-ทะ เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนสัพพนาม” คำเดิมเป็น “อิม” (อิ-มะ) แจกรูปด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิทํ” (อิ-ทัง) ลบนิคหิต จึงเป็น “อิท”
“อิท” แปลว่า “นี้” (this)
(๒) “ปัจจัย”
บาลีเป็น “ปจฺจย” รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น ย, แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + อ = ปจฺจย
พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :
ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง
“ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายดังนี้ –
(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)
(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)
(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)
(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ
“ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.
(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).
(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).
(๓) “ตา”
เป็นคำจำพวก “ปัจจัย” ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้คำที่มี “ตา” ต่อท้ายเป็นคำนาม แปลว่า “ความ-”
คำในภาษาไทยที่เราคุ้นกันมากที่สุดคือคำว่า “ธรรมดา” คำนี้ก็คือ ธมฺม + ตา ปัจจัย = ธมฺมตา แปลว่า “ความเป็นแห่งธรรม” หรือ “ความเป็นตามธรรม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมดา”
การประสมคำ :
๑ อิท (อิทํ ลบนิคหิต) + ปจฺจย, ซ้อน ปฺ
: อิท + ปฺ + ปจฺจย = อิทปฺปจฺจย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งนี้เป็นปัจจัย (แก่สิ่งนี้)”
๒ อิทปฺปจฺจย + ตา = อิทปฺปจฺจยตา แปลตามศัพท์ว่า “ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัย (แก่สิ่งนี้)”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “อิทปฺปจฺจยตา” ว่า having its foundation in this, i. e. causally connected, by way of cause (ความมีสิ่งนี้เป็นมูลเหตุหรือเป็นปัจจัย, คือ เกี่ยวข้องกันด้วยเหตุผล, ตามวิถีทางของต้นเหตุ)
“อิทปฺปจฺจยตา” เขียนเป็นคำไทยว่า “อิทัปปัจจยตา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [340] ปฏิจจสมุปบาท บอกความหมายของ “อิทัปปัจจยตา” ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ –
…………..
ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — Idappaccayatā: specific conditionality)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อิทัปปัจจยตา” ไว้ว่า –
“อิทัปปัจจยตา : “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ”
ดูเพิ่มเติม: “ปฏิจจสมุปบาท” บาลีวันละคำ (1,726) 24-2-60
อภิปราย :
คำว่า “อิทัปปัจจยตา” นี้มักรู้สึกกันว่าเป็นคำสูง เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน
ความจริง “อิทัปปัจจยตา” เป็นกฎธรรมชาติธรรมดา เป็นกฎของเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและทุกสิ่ง การที่บอกว่าเป็นเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ควรจะพูดใหม่ว่า “อิทัปปัจจยตา” เป็นเรื่องของชาวบ้านโดยตรง
กฎสั้นๆ ของ “อิทัปปัจจยตา” ก็คือ ผลทุกอย่างมาจากเหตุ ทุกครั้งที่เห็นผลอะไรก็ตามเกิดขึ้น ถ้าสืบสาวไปดูก็จะต้องพบเหตุอะไรอย่างหนึ่งเสมอไป
จากกฎข้อนี้ จึงตั้งเป็นกฎต่อไปได้ว่า –
ต้องการผลอย่างไร จงทำเหตุอย่างนั้น
ไม่ต้องการผลอย่างไร จงอย่าทำเหตุอย่างนั้น
ความยากอยู่ตรงที่-จะรู้ได้อย่างไรว่า ทำเหตุอย่างนี้ จะส่งผลอย่างไร ต้องการผลอย่างนี้ ควรทำเหตุอย่างไร
เราวัดความฉลาดหรือความโง่กันที่ตรงนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
คำแนะนำของคนโง่
: มอง โดมิโน
: เห็น อิทัปปัจจยตา
#บาลีวันละคำ (2,148)
30-4-61
อิทัปปัจจยตา
ไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่ง่ายที่จะเข้าถึง
อ่านว่า อิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา
ประกอบด้วยคำว่า อิท + ปัจจย + ตา
(๑) “อิท”
บาลีอ่านว่า อิ-ทะ เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนสัพพนาม” คำเดิมเป็น “อิม” (อิ-มะ) แจกรูปด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิทํ” (อิ-ทัง) ลบนิคหิต จึงเป็น “อิท”
“อิท” แปลว่า “นี้” (this)
(๒) “ปัจจัย”
บาลีเป็น “ปจฺจย” รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น ย, แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + อ = ปจฺจย
พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :
ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง
“ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายดังนี้ –
(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)
(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)
(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)
(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ
“ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.
(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).
(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).
(๓) “ตา”
เป็นคำจำพวก “ปัจจัย” ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้คำที่มี “ตา” ต่อท้ายเป็นคำนาม แปลว่า “ความ-”
คำในภาษาไทยที่เราคุ้นกันมากที่สุดคือคำว่า “ธรรมดา” คำนี้ก็คือ ธมฺม + ตา ปัจจัย = ธมฺมตา แปลว่า “ความเป็นแห่งธรรม” หรือ “ความเป็นตามธรรม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมดา”
การประสมคำ :
๑ อิท (อิทํ ลบนิคหิต) + ปจฺจย, ซ้อน ปฺ
: อิท + ปฺ + ปจฺจย = อิทปฺปจฺจย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งนี้เป็นปัจจัย (แก่สิ่งนี้)”
๒ อิทปฺปจฺจย + ตา = อิทปฺปจฺจยตา แปลตามศัพท์ว่า “ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัย (แก่สิ่งนี้)”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลความหมายของ “อิทปฺปจฺจยตา” ว่า having its foundation in this, i. e. causally connected, by way of cause (ความมีสิ่งนี้เป็นมูลเหตุหรือเป็นปัจจัย, คือ เกี่ยวข้องกันด้วยเหตุผล, ตามวิถีทางของต้นเหตุ)
“อิทปฺปจฺจยตา” เขียนเป็นคำไทยว่า “อิทัปปัจจยตา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [340] ปฏิจจสมุปบาท บอกความหมายของ “อิทัปปัจจยตา” ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ –
…………..
ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — Idappaccayatā: specific conditionality)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อิทัปปัจจยตา” ไว้ว่า –
“อิทัปปัจจยตา : “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ”
ดูเพิ่มเติม: “ปฏิจจสมุปบาท” บาลีวันละคำ (1,726) 24-2-60
อภิปราย :
คำว่า “อิทัปปัจจยตา” นี้มักรู้สึกกันว่าเป็นคำสูง เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน
ความจริง “อิทัปปัจจยตา” เป็นกฎธรรมชาติธรรมดา เป็นกฎของเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและทุกสิ่ง การที่บอกว่าเป็นเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ควรจะพูดใหม่ว่า “อิทัปปัจจยตา” เป็นเรื่องของชาวบ้านโดยตรง
กฎสั้นๆ ของ “อิทัปปัจจยตา” ก็คือ ผลทุกอย่างมาจากเหตุ ทุกครั้งที่เห็นผลอะไรก็ตามเกิดขึ้น ถ้าสืบสาวไปดูก็จะต้องพบเหตุอะไรอย่างหนึ่งเสมอไป
จากกฎข้อนี้ จึงตั้งเป็นกฎต่อไปได้ว่า –
ต้องการผลอย่างไร จงทำเหตุอย่างนั้น
ไม่ต้องการผลอย่างไร จงอย่าทำเหตุอย่างนั้น
ความยากอยู่ตรงที่-จะรู้ได้อย่างไรว่า ทำเหตุอย่างนี้ จะส่งผลอย่างไร ต้องการผลอย่างนี้ ควรทำเหตุอย่างไร
เราวัดความฉลาดหรือความโง่กันที่ตรงนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
คำแนะนำของคนโง่
: มอง โดมิโน
: เห็น อิทัปปัจจยตา
#บาลีวันละคำ (2,148)
30-4-61