ศาสนสมบัติ (บาลีวันละคำ 2,152)
ศาสนสมบัติ
อสรพิษชนิดร้าย
ตามพจน.54 อ่านได้ 2 แบบ คือ
สา-สะ-นะ-สม-บัด ก็ได้
สาด-สะ-นะ-สม-บัด ก็ได้
ประกอบด้วยคำว่า ศาสน + สมบัติ
(๑) “ศาสน”
บาลีเป็น “สาสน” รากศัพท์มาจาก –
(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ส-(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)
: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”
คำว่า “สาสน” มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา”
(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)
(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)
(๒) “สมบัติ”
บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ
: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม”
ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ”
“สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)
(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence)
(3) เกียรติ (honour)
(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)
“สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”
ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด
สาสน + สมฺปตฺติ = สาสนสมฺปตฺติ > ศาสนสมบัติ แปลตามความหมายในภาษาไทยว่า “สมบัติของศาสนา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกคำแปลคำว่า “ศาสนสมบัติ” เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –
ศาสนสมบัติ (Sāsanasampatti) : ecclesiastical property; temporalities.
หลักกฎหมาย :
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 กำหนดเรื่อง “ศาสนสมบัติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
หมวด ๖
ศาสนสมบัติ
มาตรา ๔๐ ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท
(๑) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง
(๒) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง
การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อการนี้ให้ถือว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ*เป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย
การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๑ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลางด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้งบประมาณนั้นได้
…………..
อภิปราย :
“ศาสนสมบัติ” เรียกตามคำคนเก่าก็คือ “ของสงฆ์” นั่นเอง
ของสงฆ์นั้นคนโบราณท่านถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ดินในวัดติดเท้าออกมาก้อนหนึ่งท่านก็กลัวเป็นบาป จึงเป็นที่มาของประเพณีขนทรายเข้าวัด ทั้งนี้ก็ด้วยเจตนาจะชดใช้ของสงฆ์นั่นเอง
ผลร้ายของการโกงกินของสงฆ์ คนเก่าท่านใช้คำว่า “ทำกินไม่ขึ้น” คือปลูกพืชพันธุ์อะไรลงไปก็หงิกงอหมด สมัยก่อนผู้คนทำเกษตรกรรมเป็นพื้นจึงเข้าใจความหมายได้ดี
ความหมายของคำว่า “ทำกินไม่ขึ้น” สำหรับคนยุคนี้ก็คือ ชีวิตจะมีแต่ความวิบัติ หาความสุขความเจริญบ่มิได้เลย และมิใช่จะวิบัติเฉพาะตัวเองเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงวงศาคณาญาติทั้งหมดด้วย
คนที่ไม่เชื่อว่าการเขมือบของสงฆ์จะมีโทษมีภัยอะไรนั้น เมื่อเกิดความมหาวิบัติขึ้นแล้วก็ไม่เคยปรากฏว่ามีโอกาสที่จะได้กลับมาสารภาพผิดเลยแม้แต่รายเดียว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โกงกินของสงฆ์มันเป็นบาป
: แม้จะรับสารภาพ ยมบาลท่านก็ไม่ลดราคา
#บาลีวันละคำ (2,152)
4-5-61