บาลีวันละคำ

ปทุมถัน (บาลีวันละคำ 2,154)

ปทุมถัน

อ่านตามหลักภาษาว่า ปฺะ-ทุม-มะ-ถัน

อ่านตามสะดวกปากว่า ปฺะ-ทุม-ถัน

ประกอบด้วยคำว่า ปทุม + ถัน

(๑) “ปทุม

บาลีอ่านว่า ปะ-ทุ-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อุม ปัจจัย

: ปทฺ + อุม = ปทุม แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่ถึงการบูชาเทวดาเป็นต้น

(2) (แทนศัพท์ว่า “ปงฺก” = ตม) + ทุ (ธาตุ = งอกงาม, เจริญ) + ปัจจัย

: + ทุ = ปทุ + = ปทุม แปลตามศัพท์ว่า “พืชที่งอกงามในตม

(3) (แทนศัพท์ว่า “ปฐม” = ที่หนึ่ง, ทีแรก; ปธาน” = หัวหน้า, ประธาน ) + ทุม (ต้นไม้)

: + ทุม = ปทุม แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ต้นแรก” “ต้นไม้ที่เป็นประธาน

ปทุม” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) หมายถึง ดอกบัว, บัวหลวง (the lotus Nelumbium speciosum)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปทุม : (คำนาม) บัวหลวง, บัวก้าน. (ป.; ส. ปทฺม).”

ข้อสังเกต :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดคำนี้เป็น “ปทุม” และไม่มีคำที่สะกดเป็น “ประทุม” เดี่ยวๆ

คำที่สะกดเป็น “ประทุม” มีแต่คำว่า “ประทุมราค” (แปลว่า พลอยสีแดง, ทับทิม) คำเดียวเท่านั้น

(๒) “ถัน

บาลีเป็น “ถน” (ถะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ตนฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ขยาย) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: ตนฺ + = ตน > ถน แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่แผ่ไปเฉพาะผู้หญิง

ถน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เต้านมของสตรี (the breast of a woman)

(2) เต้านมของวัว (the udder of a cow)

บาลี “ถน” สันสกฤตเป็น “สฺตน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

สฺตน : (คำนาม) อกหรือทรวงสตรี, ‘ถัน’ ก็เรียก; the female bosom or breast; a pap.”

รูปคำ “สฺตน” นี้ พจนานุกรมฯ เก็บไว้เป็น “สตน” (สะ-ตน) และ “สตัน” (สะ-ตัน) แต่ก็แทบจะไม่มีใครรู้จักในภาษาไทย เราใช้ตามรูปบาลีเป็น “ถัน” มากกว่า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถัน : (คำนาม) เต้านม; นํ้านม. (ป. ถน ว่า เต้านม; ถญฺญ ว่า นํ้านม).

ปทุม + ถัน = ปทุมถัน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ดอกบัวคือถัน” (2) “ถันเพียงดังดอกบัว

อภิปราย :

ปทุมถัน” เป็นคำที่ประสมขึ้นตามจินตนาการในวรรณคดีของไทยที่นิยมว่าทรวงอกสตรีที่ถือว่างามต้องมีลักษณะเหมือนดอกบัวหลวงที่กำลังตูม

เมื่อชมโฉมนางงามจึงมักมีคำชมถันว่างามดังดอกบัว เป็นที่มาของคำว่า “ปทุมถัน

ธรรมชาติของสตรีในสกลจักรวาลย่อมปรารถนาให้ตนมีถันงาม แม้พระนางผุสดีผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพุทธมารดาก็ไม่พ้นที่จะปรารถนาเช่นนั้นด้วย ดังข้อความในพร 10 ประการ (ทศพร) ข้อหนึ่งว่า –

…………..

ถนา เม นปฺปวตฺเตยฺยุํ

ถันทั้งคู่ของข้าพระบาทอย่าพึงหย่อนยาน

…………..

และอรรถกถานำมาขยายความตามสำนวนในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ทศพรว่า –

…………..

อลมฺพตฺถนตา สตฺตโม วโร.

อนึ่งเล่ายุคลถันทั้งสองของข้าพระบาท เมื่อทรงครรภ์อย่าวิปลาสแปรผันดำปรากฏ แม้พระบวรปิโยรสจะเสวยทุกวันเวลา อย่าคล้อยเคลื่อนเลื่อนลดลงมาจากพระทรวง ให้เต่งตั้งดังปทุมบัวหลวงงามบริสุทธิ์วิเศษเสร็จ

…………..

ดูก่อนภราดา!

ธรรมชาติสร้างทรวงสตรีมาเพื่อเลี้ยงลูก

: โปรดช่วยกันประเทืองปทุมถันให้งามล้ำค่า

: ด้วยการเลี้ยงลูกที่เกิดมาให้เป็นคนดี

#บาลีวันละคำ (2,154)

6-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *