ตัจวิทยา (บาลีวันละคำ 2,164)
ตัจวิทยา
อ่านว่า ตัด-จะ-วิด-ทะ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า ตัจ + วิทยา
(๑) “ตัจ”
บาลีเป็น “ตจ” (ตะ-จะ) รากศัพท์มาจาก ตจฺ (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย
: ตจฺ + อ = ตจ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่รักษาตัวไว้”
“ตจ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เปลือกไม้ (bark)
(2) หนัง, หนังสัตว์ (skin, hide)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ตจ– : (คำนาม) หนัง, เปลือกไม้. (ป.).”
(๒) “วิทยา”
บาลีเป็น “วิชฺชา” (วิด-ชา) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
ตจ + วิชฺชา = ตจวิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ความรู้ว่าด้วยผิวหนัง”
“ตจวิชฺชา” เขียนตามสันสกฤตเป็น “ตจวิทฺยา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ตัจวิทยา” (ตจ– เป็น ตัจ– ไม่ใช่ ตจวิทยา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตัจวิทยา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยผิวหนัง. (ป. ตจ + ส. วิทฺยา)”
อภิปราย :
“ตัจวิทยา” เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า dermatology
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล dermatology ว่า วิชาว่าด้วยโรคผิวหนัง
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ให้คำนิยาม “ตัจวิทยา” ว่า “วิชาว่าด้วยผิวหนัง” ไม่ใช่ “วิชาว่าด้วยโรคผิวหนัง”
ความแตกต่างแห่งถ้อยคำเช่นนี้ชวนให้เข้าใจว่า
“วิชาว่าด้วยโรคผิวหนัง” มีเป้าหมายเฉพาะผิวหนังที่เป็นโรคเท่านั้น
แต่ “วิชาว่าด้วยผิวหนัง” มีเป้าหมายครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับผิวหนัง
พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำที่ออกมาจาก dermatology อีกคำหนึ่งคือ dermatologist แปลไว้ว่า ผู้ชำนาญโรคผิวหนัง
โปรดสังเกตว่า มีคำว่า “โรค” กำกับไว้ด้วยเช่นกัน
dermatology ออกมาจากคำว่า derm หรือ derma ซึ่งพจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลว่า หนังแท้ใต้ผิวหนัง
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล derm เป็นบาลีว่า
: taca ตจ (ตะ-จะ) = หนัง, ผิวหนัง
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่มีคำว่า dermatology แต่มีคำว่า dermatologist แปลเป็นบาลีว่า –
: cammarogaticchaka จมฺมโรคติจฺฉก (จำ-มะ-โร-คะ-ติด-ฉะ-กะ) = หมอรักษาโรคผิวหนัง
น่าสังเกตว่า พจนานุกรม สอ เสถบุตร และ พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แสดงความหมายของ dermatology > dermatologist ตรงกันคือ คือไม่ใช่เรื่องทั่วไปของผิวหนัง แต่หมายถึงเรื่องที่เกี่ยวกับโรคผิวหนังโดยเฉพาะ
น่าจะสรุปได้ว่า “ตัจวิทยา” ตามความหมายของพจนานุกรมฯ หมายถึงวิทยาการว่าด้วยเรื่องทั้งปวงที่เกี่ยวกับผิวหนัง ไม่ใช่เรื่องโรคผิวหนังโดยเฉพาะ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โรคหายได้ด้วยการลงมือรักษา
: ใช่เพียงรู้จักตัวยาก็หายได้เอง
ฉันใด
: กิเลสหมดสิ้นไปได้ด้วยการลงมือปฏิบัติ
: ใช่เพียงเรียนจบปริยัติก็หมดกิเลสได้เอง
ฉันนั้น
—————–
(ได้คำมาจากวงสนทนาผองเพื่อนของ Pim Anong)
#บาลีวันละคำ (2,164)
16-5-61