อักโข (บาลีวันละคำ 2,167)
อักโข
มาจากไหน
อ่านว่า อัก-โข
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อักโข : (คำวิเศษณ์) มาก, หลาย. (ตัดมาจาก อักโขภิณี).”
“อักโขภิณี” เขียนแบบบาลีเป็น “อกฺโขภิณี” รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขุภฺ (ธาตุ = หวั่นไหว) + ยุ ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ ระหว่างนิบาตกับธาตุ (น > อ + กฺ + ขุภฺ), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, แผลง อุ ที่ ขุ-(ภฺ) เป็น โอ (ขุภฺ > โขภ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลง อิ อาคมหน้า อี
: น > อ + กฺ + ขุภฺ = อกฺขุภฺ + ยุ > อน = อกฺขุภน > อกฺขุภณ > อกฺโขภณ + อี = อกฺโขภณี > อกฺโขภิณี แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพที่ไม่อาจให้หวั่นไหวได้”
หมายเหตุ : ศัพท์นี้แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วไม่แปลง น เป็น ณ,และไม่ลง อิ อาคม ได้รูปเป็น “อกฺโขภนี” อีกรูปหนึ่ง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อกฺโขภิณี” ว่า one of the highest numerals [1 followed by 42 ciphers] (เลขที่สูงสุดตัวหนึ่ง [1 ตามด้วยเลขศูนย์ 42 ตัว])
ในภาษาไทย ศัพท์นี้ใช้เป็น “อักโขภิณี” และ “อักโขเภณี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อักโขภิณี, อักโขเภณี : (คำนาม) จํานวนนับอย่างสูง คือ ๑ มีศูนย์ตาม ๔๒ ตัว; กองทัพอินเดียโบราณที่มีกระบวนรบพร้อมมูลตามกําหนด; ใช้ว่า อักเษาหิณี ก็มี. (ป.; ส. อกฺเษาหิณี).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “อกฺโขภิณี” สันสกฤตเป็น “อกฺเษาหิณี”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน สะกดคำนี้เป็น “อกฺเษาหินี” (-นี น หนู) บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อกฺเษาหินี : (คำนาม) จตุรงคเสนา ( = กองทัพอย่างเต็มที่ หรือสมบูรณวาหินี – มีทหารเดิรเท้า (หรือทหารราบ) ๑๐๙,๓๕๐, ทหารม้า ๖๕,๖๑๐, ช้าง ๒๑,๘๗๐ เชือก, รถสึก ๒๑,๘๗๐ คัน; a full army (consisting of 109,350 foot, 65,610 horse, 21,870 elephants, and 21,870 chariots); a complete army, an army in full fighting strength.”
โปรดสังเกตว่า ความหมายที่ว่า “กองทัพอินเดียโบราณ” พจนานุกรมฯ ขยายความเพียงแค่ “ที่มีกระบวนรบพร้อมมูลตามกําหนด” แต่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แสดงตัวเลขรายละเอียดของกระบวนรบแต่ละส่วนไว้ให้ด้วย
คำนี้ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปบาลีคือ “อักโขภิณี” และเมื่อใช้กันนานเข้าก็ตัดคำลงไปเหลือเพียง “อักโข”
เท่านั้นยังไม่พอ จาก “อักโข” กร่อนลงไปอีก เหลือเพียง “โข” พยางค์เดียวและกลายเป็นภาษาปากไปในที่สุด ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โข : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) มาก. (กร่อนมาจาก อักโข ซึ่งตัดมาจาก อักโขภิณี).”
สรุปว่า :
“โข” กร่อนมาจาก “อักโข”
“อักโข” ตัดมาจาก “อักโขภิณี”
“อักโขภิณี” บาลีเป็น “อกฺโขภิณี” หมายถึง ตัวเลขหรือจำนวนที่มากมายมหาศาล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเอาแต่ปลื้มกับตัวเลขในสมุดฝาก
: จนลืมไปว่าอสรพิษจำนวนมากนั้นเราได้มันมาอย่างไร
#บาลีวันละคำ (2,167)
19-5-61