บาลีวันละคำ

ฉายาพระ (บาลีวันละคำ 2,165)

ฉายาพระ

ช่วยกันเขียนให้ถูกได้ไหม

คำว่า “ฉายา” รากศัพท์มาจาก ฉิ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ฉิ เป็น อา (ฉิ > ฉา) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ฉิ > ฉา + = ฉาย + อา = ฉายา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ตัดความสงสัย” หมายถึง เค้ารูป, ลักษณะที่เหมือน (image)

(2) “สิ่งที่ตัดความเหน็ดเหนื่อย” หมายถึง ที่ร่ม, ร่มเงา (shade, shadow)

ในที่นี้ “ฉายา” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฉายา ๑ : (คำนาม) เงา, ร่มไม้. (ป.); ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท, ชื่อตั้งให้กันเล่น ๆ หรือตามลักษณะที่หมายรู้กันในหมู่คณะ. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ฉายา : ชื่อที่พระอุปัชฌายะตั้งให้แก่ผู้ขอบวชเป็นภาษาบาลี เรียกว่า ชื่อฉายา ที่เรียกเช่นนี้เพราะเดิมเมื่อเสร็จการบวชแล้ว ต้องมีการวัดฉายาคือเงาแดดด้วยการสืบเท้าว่าเงาหดหรือเงาขยายแค่ไหน ชั่วกี่สืบเท้า การวัดเงาด้วยเท้านั้นเป็นมาตรานับเวลา เรียกว่า บาท เมื่อวัดแล้วจดเวลาไว้และจดสิ่งอื่นๆ เช่นชื่อพระอุปัชฌายะ พระกรรมวาจาจารย์ จำนวนสงฆ์ และชื่อผู้อุปสมบท ทั้งภาษาไทยและมคธลงในนั้นด้วย ชื่อใหม่ที่จดลงตอนวัดฉายานั้น จึงเรียกว่า ชื่อฉายา

…………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ชื่อฉายา” ไว้ ลองแปลกลับเป็นบาลีว่า “นามฉายา” หรือ “ฉายานาม” ก็ไม่มีเก็บไว้เช่นเดียวกัน

ในที่นี้ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้คำว่า “ฉายาพระ” เนื่องจากเห็นว่า “ฉายา” คำเดียวตามพจนานุกรมฯ คนทั่วไปก็มักไม่รู้ว่าเป็น “ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท” คำว่า “ชื่อฉายา” “นามฉายา” หรือ “ฉายานาม” ก็ไม่สื่อความหมายตรงๆ จึงเสนอคำว่า “ฉายาพระ” ซึ่งชี้เฉพาะไปที่พระทันที และชวนให้ถามต่อไปว่า-อะไรของพระ ความหมายของคำว่า “ฉายา” ที่เกี่ยวกับพระก็จะผุดขึ้นในห้วงนึกได้ง่าย

เหตุที่ต้องมี “ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท” ก็เพราะในพิธีอุปสมบทจะต้องสวดประกาศข้อความที่เรียกว่า “กรรมวาจา” เป็นภาษาบาลี และข้อความในกรรมวาจานั้นต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลีด้วย ดังนั้นพระอุปัชฌายะจึงต้องตั้งชื่อให้ใหม่เป็นภาษาบาลี

ตัวอย่าง ผู้เขียนบาลีวันละคำชื่อภาษาไทยว่า “ทองย้อย” คำว่า “ทองย้อย” เอาไปสวดกรรมวาจาไม่ได้ พระอุปัชฌาย์ตั้งชื่อให้ใหม่เป็นภาษาบาลีว่า “วรกวินฺโท” (วะ-ระ-กะ-วิน-โท แปลว่า “จอมกวีผู้ประเสริฐ”)

คำว่า “วรกวินฺโท” จึงเป็น “ฉายาพระ” ของผู้เขียนบาลีวันละคำตลอดเวลาที่ยังเป็นพระอยู่ เมื่อเขียนชื่อภาษาไทยก็จะต้องเอ่ย “ฉายาพระ” ควบไปด้วยเสมอ เป็น –

พระมหาทองย้อย วรกวินฺโท (ไม่ต้องใส่นามสกุล)

เหมือนกับที่คนทั่วไปเขียนชื่อแล้วตามด้วยนามสกุลฉะนั้น

อนึ่ง ผู้เขียนบาลีวันละคำขอตั้งข้อสังเกตว่า เวลานี้พระส่วนหนึ่งซึ่งนับวันจะเห็นได้มากขึ้น ไม่นิยมเขียนชื่อแล้วตามด้วย “ฉายาพระ” แต่กลับนิยมเขียนชื่อแล้วตามด้วยนามสกุลเหมือนกับคนทั่วไป ดูแปลกๆ ชอบกลอยู่

ฉายาพระ” อาจเขียนได้ 2 แบบ คือ

๑ เขียนแบบบาลีบาลี หรือที่อาจพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “เขียนแบบมีจุดล่างจุดบน”

เช่นฉายาหลวงพ่อวิริยังค์ว่า “สิรินฺธโร” อ่านว่า สิ-ริน-ทะ-โร

มีจุดใต้ นฺ บังคับให้ นฺ เป็นตัวสะกดและไม่ต้องออกเสียง

ถ้าเขียนเป็น “สิรินธโร” ไม่มีจุดใต้ น ต้องอ่านว่า สิ-ริ-นะ-ทะ-โร ซึ่งไม่ใช่คำที่ถูกต้อง

เขียนแบบมีจุดล่างจุดบนนี้เป็นแบบที่คณะสงฆ์นิยมใช้ทั่วไป

๒ เขียนแบบบาลีไทย หรือแบบเขียนคำอ่าน หรือที่อาจพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “เขียนแบบมีไม้หันอากาศมีสระอะ” (ไม่ต้องใส่จุดล่างจุดบน)

เช่นฉายาหลวงปู่มั่นว่า “ภูริทัตโต” อ่านแบบคำไทยว่า พู-ริ-ทัด-โต

ถ้าเขียนแบบนี้ก็ไม่ต้องใส่จุดล่างจุดบน คือไม่ต้องเขียนเป็น “ภูริทัตฺโต” มีจุดใต้ ตฺ เพราะ -ทัต- เป็นการเขียนแบบคำอ่านอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใส่จุดใต้ ตฺ มาบังคับให้เป็นตัวสะกดอีก

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เวลานี้คนทั้งหลาย-และโดยเฉพาะสื่อสารมวลชน-ไม่เข้าใจวิธีเขียน “ฉายาพระ” จึงปรากฏการเขียนที่เลอะเทอะอยู่ทั่วไป เช่น

– มีทั้งจุดล่างจุดบน มีทั้งไม่หันอากาศ อย่างเช่น “ภูริทัตฺโต”

– เขียนแบบคำไทยผสมบาลี เช่นฉายาหลวงพ่อจรัญว่า “ฐิตธมฺโม” (ถิ-ตะ-ทำ-โม) เขียนเป็น “ฐิตธรรมโม” “ธรรม” เขียนแบบไทย แล้วยังใส่ “โม” เข้ามาอีก คำบาลีก็ไม่ใช่ คำไทยก็ไม่มี แบบนี้ไม่ถูกต้อง

– ในที่เดียวกันควรจะเขียนโดยใช้หลักเดียวกัน กลับเขียนไปคนละแบบ เช่น (ดูภาพประกอบ)

ฉายาหลวงพ่อวิริยังค์ เขียนแบบบาลีบาลีเป็น “สิรินฺธโร

ฉายาหลวงปู่มั่น เขียนแบบบาลีไทยเป็น “ภูริทัตโต” แทนที่จะเป็น “ภูริทตฺโต

การเขียน “ฉายาพระ” จับหลักได้นิดเดียวก็ใช้เขียนได้ตลอด ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่ประการใดเลย

ปัญหาจึงไม่ได้เกิดเพราะ “ไม่รู้” แต่น่าจะเกิดเพราะ “ไม่ใฝ่รู้”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใฝ่ชั่ว

: ยังไม่น่ากลัวเท่ากับไม่ใฝ่รู้

ถ้าใฝ่รู้ ยังมีโอกาสที่จะรู้ตัวและเลิกใฝ่ชั่วได้สักวันหนึ่ง

แต่ถ้าไม่ใฝ่รู้ จะไม่มีโอกาสรู้ตัว แล้วก็จะใฝ่ชั่วตลอดไป

——————

(เสริมภาพประกอบด้วยความเมตตาของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์)

#บาลีวันละคำ (2,165)

17-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย