บาลีวันละคำ

โอภาปราศรัย (บาลีวันละคำ 2,172)

โอภาปราศรัย

ไม่มีทางไปก็ลากเข้าวัดไว้ก่อน

อ่านว่า โอ-พา-ปฺรา-ไส

ดูหน้าตาเหมาะที่จะเป็นบาลีสันสกฤต คือประกอบด้วยคำว่า โอภา + ปราศรัย

คำว่า “โอภา” “ปราศรัย” และ “โอภาปราศรัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) โอภา : (คำกริยา) ทักทายด้วยวาจาสุภาพ.

(2) ปราศรัย : (คำนาม) การพูดด้วยไมตรีจิต, การแสดงอัชฌาสัยในระหว่างผู้ใหญ่ต่อผู้น้อยหรือผู้ที่เสมอกัน; คําปรารภ. (คำกริยา) พูดด้วยไมตรีจิต, พูดแสดงอัชฌาสัยระหว่างผู้ใหญ่ต่อผู้น้อยหรือผู้ที่เสมอกัน; ปรารภ. (ส. ปฺรศฺรย).

(3) โอภาปราศรัย : (คำกริยา) ทักทายด้วยความสนิทสนมเป็นกันเอง.

มี “ปราศรัย” คำเดียวที่พจนานุกรมฯ บอกที่มาว่า สันสกฤตเป็น “ปฺรศฺรย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรศฺรย” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรศฺรย : (คำนาม) ‘ปรัศรยะ, แผลงเปน – ประศรัย,’ เสนหะ ( = ความเสนหา); ความเคารพ; สุศีลตา, ความเรียบร้อยในมารยาท; affection; respect; civility, politeness.”

สรุปว่า “ปราศรัย” กลายรูปและความหมายมาจาก “ปฺรศฺรย” ในสันสกฤต

แล้ว “โอภา” มาจากไหน ?

ในบาลีมีคำกริยาว่า “โอภาสติ” (โอ-พา-สะ-ติ) แปลได้ 2 อย่าง คือ

(1) ส่องแสง, รุ่งเรือง (to shine, to be splendid)

(2) พูดไปยัง-, ด่าว่า, กล่าวโทษ, เย้ยหยัน (to speak to, to rail at, offend, abuse)

คำที่เราคุ้นกันในภาษาไทยคือ “โอภาส” ก็มาจากคำนี้ รากศัพท์มาจาก โอ (คำอุปสรรค = ลง) + ภาสฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง; พูด)

โอภาส” ในบาลีใช้ในความหมายเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทย คือหมายถึง แสงสว่าง ยังไม่พบที่ใช้ในความหมายว่า พูด

แต่ถ้าเป็นคำกริยา “โอภาสติ” นอกจากแปลว่า “ส่องแสง” แล้ว ยังแปลว่า “พูด” ได้ด้วย

ดังนั้น ถ้ายังไม่มีหลักฐานเป็นอย่างอื่น ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอความเห็นว่า “โอภา” ในภาษาไทยที่หมายถึง ทักทายด้วยวาจาสุภาพ ตัดมาจาก “โอภาสติ” ในบาลี

จะมีข้อขัดแย้งก็ตรงที่ “โอภาสติ” ในบาลีที่แปลว่า “พูด” หมายถึงพูดในทางไม่ดี (โอ = ลง + ภาสฺ = พูด = พูดให้ต่ำลง – ดูคำแปลข้างต้น) แต่ในภาษาไทย “โอภา” มีความหมายในทางพูดดี

การที่ความหมายเดิมต่างจากความหมายที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเช่นนี้ย่อมเป็นไปได้ และถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าลองหาคำที่ความหมายกลายไปจากเดิมในทำนองนี้ก็จะพบอีกหลายคำ เช่น –

โมโห : ภาษาบาลีหมายถึงความโง่, ความหลงลืม, ความเข้าใจผิด, ความไม่รู้ตามความเป็นจริง แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า โกรธ

เวทนา : ภาษาบาลีหมายถึงความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า สังเวชสลดใจ

สงสาร : ภาษาบาลีหมายถึงการเวียนตายเวียนเกิด แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น, รู้สึกห่วงใยด้วยความเมตตากรุณา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หลงลมปากที่ปราศรัย ระวังจะถูกน้ำใจเชือดคอ

: เกลียดลมปากที่ด่าทอ ระวังจะชวดน้ำใจที่ปรารถนาดี

#บาลีวันละคำ (2,172)

24-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *