บาลีวันละคำ

ลาสิกขา [2] (บาลีวันละคำ 2,173)

ลาสิกขา [2]

บาลีว่าอย่างไร หมายความแค่ไหน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

ลาสิกขา : (คำกริยา) ลาสึก, ลาจากเพศสมณะ.”

คำลาสิกขาที่ใช้ลงตัวแล้วในบัดนี้เป็นภาษาบาลีว่า

สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ  คิหีติ  มํ  ธาเรถ.

(สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ)

แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์

คำที่แปลว่า “ลา” คือ “ปจฺจกฺขามิ” (ปัด-จัก-ขา-มิ) เป็นคำกริยา (กิริยาขยาต) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาต อุตตมบุรุษ เอกพจน์, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ แล้วซ้อน กฺ

: ปฏิ > ปจฺจ + กฺ + ขา = ปจฺจกฺขา + = ปจฺจกฺขา + มิ = ปจฺจกฺขามิ แปลตามศัพท์ว่า “พูดเป็นปฏิปักษ์” หรือ “พูดขัดขวาง” (to speak against) คือ ไม่ยอมรับ, ปฏิเสธ, บอกปัด, ยกเลิก, บอกคืน, เลิกละ. (to reject, refuse, disavow, abandon, give up)

ในภาษาบาลี มีคำที่แปลว่า “ลา” อีกคำหนึ่ง คือ “อาปุจฺฉามิ” (อา-ปุด-ฉา-มิ) เป็นคำกริยา (กิริยาขยาต) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, มาก, กลับความ) + ปุจฺฉฺ (ธาตุ = ถาม) + ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาต อุตตมบุรุษ เอกพจน์, ทีฆะ อะ เป็น อา

: อา + ปุจฺฉฺ = อาปุจฺฉฺ + = อาปุจฺฉ > อาปุจฺฉา + มิ = อาปุจฺฉามิ แปลตามศัพท์ว่า “ถามโดยเอื้อเฟื้อ” (to enquire after) หมายถึง คอยหา, ไต่ถาม, ขออนุญาตหรือบอกลา (look for, ask, to ask permission or leave)

ลา” ที่แปลมาจาก “ปจฺจกฺขามิ” กับ “ลา” ที่แปลมาจาก “อาปุจฺฉามิ” ถ้าฟังเฉพาะภาษาไทยจะไม่รู้สึกว่าต่างกัน แต่ในภาษาบาลีความหมายต่างกันมาก

ความหมายที่แตกต่าง :

ปจฺจกฺขามิ” ที่แปลว่า “ลา (สิกขา)” หมายถึง บอกเลิก ไม่รับเอามาปฏิบัติ ไม่นับถือ ไม่ต้องการสิ่งนั้นอีกต่อไป

เมื่อพระลาสึก ใช้คำว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าลาสิกขา” จึงหมายถึงไม่รับเอาสิกขาแบบพระมาปฏิบัติอีกต่อไป คือไม่ใช้ชีวิตแบบพระ ไม่ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ตามแบบของพระอีกต่อไป แต่ยังนับถือพระพุทธศาสนา ยังมีศีล สมาธิ ปัญญา ตามแบบชาวพุทธชาวบ้านที่ดีต่อไปได้

ถ้าพูดว่า ลาพระพุทธ ลาพระธรรม ลาพระสงฆ์ หรือลาพระรัตนตรัย ใช้คำว่า “ปจฺจกฺขามิ” จะหมายความว่าไม่นับถือพระรัตนตรัยอีกต่อไป อาจถึงขั้นเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นด้วย

ปจฺจกฺขามิ” หมายถึง ลาขาด คือตัดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป

อาปุจฺฉามิ” ที่แปลว่า “ลา” หมายถึง มาพบกัน มาหากัน เสร็จธุระแล้วก็ลากลับ หรือทำอะไรอยู่ด้วยกันแล้วลาไปทำกิจอย่างอื่น คือลาแบบที่เราพูดกันว่า “ขอตัว” ลาไปแล้วยังมาเจอกันอีกได้ ไม่ใช่ลาขาด

ผู้ไม่รู้ภาษาบาลี ตั้งใจจะลาพระพุทธ ลาพระธรรม ลาพระสงฆ์ หรือลาพระรัตนตรัยในความหมายนี้ เหมือนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอสมควรแก่เวลาก็ลากลับ แต่ไปใช้คำว่า พุทธัง ปัจจักขามิ ธัมมัง ปัจจักขามิ สังฆัง ปัจจักขามิ เลยกลายเป็นลาขาดจากพระรัตนตรัย หรือลาออกจากความเป็นชาวพุทธไปเลย

คำลาสิกขา ท่านใช้คำว่า “สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ” ไม่ใช่ “สิกฺขํ  อาปุจฺฉามิ” ก็เพราะ “สิกขา” หมายถึงระบบวิถีชีวิตทั้งชีวิต คือเปลี่ยนจากชีวิตแบบชาวบ้านมาเป็นบรรพชิต ใช้ชีวิตตามแบบแผนที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ซึ่งเรียกว่าระบบสิกขา คือไตรสิกขา เมื่อไม่สามารถอยู่ในระบบสิกขาเช่นนั้นได้ ก็ลา “สิกขา” ออกไป คือตัดขาดจากวิถีชีวิตของบรรพชิต จึงใช้คำพูดเมื่อลาขาดจากวิถีชีวิตเช่นนั้นว่า “สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าลาสิกขา” เกิดคำเรียกสั้นๆ “ลาสิกขา” ดังเป็นที่ทราบกันอยู่

ดูเพิ่มเติม:

ลาสิกขา” บาลีวันละคำ (391) 10-6-56

สิกขัง ปัจจักขามิ” บาลีวันละคำ (1,930) 21-9-60

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รักษาระบบวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ให้เคร่ง

: ก็เท่ากับลาสิกขาด้วยตัวเองไปแล้วโดยปริยาย

#บาลีวันละคำ (2,173)

25-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย