บาลีวันละคำ

ชีพจรลงเท้า (บาลีวันละคำ 2,168)

ชีพจรลงเท้า

ช่วยกันรู้ไว้สักนิด-ว่านี่คือผิดจนถูก

อ่านว่า ชีบ-พะ-จอน-ลง-เท้า

คำบาลีคือ “ชีพจร” ประกอบด้วยคำว่า ชีพ + จร

(๑) “ชีพ

บาลีเป็น “ชีว” (ชี-วะ) รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + ปัจจัย

: ชีวฺ + = ชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” หมายถึง ชีวิต (ของแต่ละคน), เวลาที่ชีวิตดำรงอยู่, ช่วงของชีวิต, การเป็นอยู่; การดำรงชีพ ([individual] life, lifetime, span of life; living, livelihood)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชีว– ๑, ชีวะ ๑ : (คำนาม) ชีพ, ความเป็น, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.).”

ชีว” แปลง เป็น ตามหลักนิยม ได้รูปเป็น “ชีพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ชีพ, ชีพ– : (คำนาม) ชีวิต, ความเป็น, ตรงข้ามกับ ความตาย, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์; ความดำรงชีวิตอยู่ เช่น ค่าครองชีพ. (ป., ส. ชีว).”

(๒) “จร

บาลีอ่านว่า จะ-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลบ

: จรฺ + = จรณ > จร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไป” “ผู้ประพฤติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จร” เป็นอังกฤษว่า –

(1) the act of going about, walking; one who walks or lives (การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่)

(2) one who is sent on a message, a secret emissary, a spy (ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จร ๑, จร– : (คำวิเศษณ์) ไม่ใช่ประจำ เช่น วาระจร ขาจร. (คำกริยา) ไป, เที่ยวไป; ประพฤติ. (ป., ส.), ใช้เป็นบทท้ายสมาสก็มี เช่น ขจร วนจร, ที่ใช้ควบกับคำไทยก็มี เช่น จรลู่ จรลิ่ว.”

ชีพ + จร = ชีพจร แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นไปที่แสดงให้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่

ที่ประสมคำและแปลไว้นี้เป็นการแปลตามรูปคำที่เห็นในภาษาไทย แต่ในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำที่ประกอบรูปและมีความหมายเช่นนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชีพจร : (คำนาม) อาการที่เส้นเลือดเต้นอยู่ตามร่างกายและสัมผัสได้เช่นที่ข้อมือ.”

ชีพจรลงเท้า” เป็นการเอาคำไทยว่า “ลงเท้า” มาประสมกับคำว่า “ชีพจร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ชีพจรลงเท้า : (สำนวน) (คำกริยา) อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ, เดิมใช้ว่า เทพจรลงเท้า.”

อภิปราย :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ชีพจรลงเท้า” เดิมใช้ว่า “เทพจรลงเท้า

ตามไปดูที่คำว่า “เทพจรลงเท้า” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

เทพจรลงเท้า : (สำนวน) (คำกริยา) อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ, ปัจจุบันใช้ว่า ชีพจรลงเท้า.”

จะเห็นได้ว่าคำนิยามตรงกัน ต่างกันเฉพาะตอนท้าย

ชีพจรลงเท้า” บอกว่า เดิมใช้ว่า “เทพจรลงเท้า

เทพจรลงเท้า” บอกว่า ปัจจุบันใช้ว่า “ชีพจรลงเท้า

ทำไม “เทพจร” จึงกลายมาเป็น “ชีพจร” ?

ควรทราบข้อมูลอย่างหนึ่งว่า พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ไม่ได้เก็บคำว่า “ชีพจรลงเท้า” และ “เทพจรลงเท้า” ไว้ แม้แต่คำว่า “เทพจร” ก็ไม่ได้เก็บไว้

ทั้ง 3 คำนี้เพิ่งมาเก็บในฉบับ 2554

คำว่า “เทพจร” ในพจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 บอกไว้ว่า –

เทพจร : (คำนาม) ชื่อเทวดาองค์หนึ่ง (คำโบราณ) (คำนาม) ชีพจร.”

เป็นอันได้ความรู้ว่า คำว่า “ชีพจร” นั้นมีคำโบราณเรียกว่า “เทพจร

เมื่อดูความหมายของคำว่า “ชีพจร” จะเห็นว่า หมายถึง “อาการที่เส้นเลือดเต้นอยู่ตามร่างกาย” ความหมายนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับความหมายที่ว่า “อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ”

คำถามคือ แล้วความหมายที่ว่า “อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ” มาจากไหน ?

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเสนอความเห็นไว้แล้วว่า คำว่า “เทพจร” แปลงมาจากคำว่า “เทวดาจร

: เทวดา = เทพ

: เทวดาจร = เทพจร

เทวดาจร” เป็นคำที่ใช้ในวิชาหมอดูแบบ “สิบสองราศี” ประกอบด้วย พระเจดีย์, ฉัตรเงิน, คนศีรษะขาด, เรือนหลวง, ปราสาททอง, ราหู, ฉัตรทอง, เทพจร (เทวดาจร), นักโทษ, พ่อมด, แม่มด, นาคราช

วิธีดู คือนับอายุปัจจุบันว่าตกราศีอะไร แล้วทำนายไปตามคำทำนายประจำราศีนั้นๆ

เฉพาะราศี “เทพจร” คำทำนายที่เป็นหลักคือ เจ้าชะตามักต้องเดินทางออกนอกถิ่น

สมัยโบราณคนมักอยู่ประจำถิ่น และการเดินทางก็ใช้วิธี “เดิน” คือไปด้วยเท้า ใครที่มีเหตุให้ต้องเดินทางไปนั่นมานี่ไม่ค่อยได้หยุด จึงเกิดเป็นสำนวนเรียกว่า “เทพจรลงเท้า

คนสมัยใหม่ได้ยินคำว่า “เทพจร” ไม่คุ้นหู เข้าใจไปว่า “ชีพจร” จึงพากันพูดว่า “ชีพจรลงเท้า” ทั่วไปหมด

ดูเพิ่มเติม: “เทพจร” บาลีวันละคำ (331) 8-4-56

วิธีพิสูจน์ว่า “ชีพจรลงเท้า” เป็นคำที่พูดผิด ก็คือลองแปล “ชีพจร” กับ “เทพจร” เป็นภาษาอังกฤษ

ชีพจร” ภาษาอังกฤษว่า the pulse

เทพจร” ภาษาอังกฤษว่า a god the traveller

เทพจร” อาจหมายถึง the pulse ได้ถ้าเป็นคำโบราณ (ดูคำนิยามในพจนานุกรมฯ ข้างต้น)

แต่ “ชีพจร” หมายถึง “อาการที่เส้นเลือดเต้นอยู่ตามร่างกาย” จะหมายถึง a god the traveler ไม่ได้เลย

และโดยนัยกลับกัน ความหมายที่ว่า “อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ” จะหมายถึง the pulse (ชีพจร) ก็ไม่ได้ ต้องหมายถึง a god the traveler เท่านั้น

และ a god the traveler ก็คือ “เทพจร” ไม่ใช่ “ชีพจร

เมื่อพูดว่า “ชีพจรลงเท้า” แต่ไปเอาความหมายของ a god the traveler มาใช้ จึงไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง

คำที่ถูกต้องก็มีอยู่แล้ว คือ “เทพจรลงเท้า” แต่พจนานุกรมฯ ก็ไปปิดประตูเสียอีก เพราะบอกว่า ปัจจุบันใช้ว่า “ชีพจรลงเท้า

หมายความว่า ใครใช้ว่า “เทพจรลงเท้า” จะกลายเป็นใช้คำผิด

ถูกกลายเป็นผิด และผิดกลายเป็นถูก-ก็มีด้วยประการฉะนี้

…………..

เพื่อความถูกต้อง ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตเสนอไปยังราชบัณฑิตยสภาให้ปรับแก้คำนิยาม “เทพจรลงเท้า” และ “ชีพจรลงเท้า” เป็นดังนี้

– เทพจรลงเท้า [เทบพะ-] (สำ) ก. อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ, เพี้ยนเป็น ชีพจรลงเท้า ก็มี.

– ชีพจรลงเท้า  (สำ) ก. อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ, เพี้ยนมาจาก เทพจรลงเท้า.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าคนไทยไม่พูดไทย

จะเป็นไทยอย่างไรกัน

: ถ้าพูดผิดเป็นถูกกันทุกวัน

ภาษาไทยจะเหลืออะไร

#บาลีวันละคำ (2,168)

20-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *