บาลีวันละคำ

มกุฏพันธนเจดีย์ (บาลีวันละคำ 2,185)

มกุฏพันธนเจดีย์

อ่านว่า มะ-กุด-ตะ-พัน-ทะ-นะ-เจ-ดี

ประกอบด้วยคำว่า มกุฏ + พันธน + เจดีย์

(๑) “มกุฏ

โปรดสังเกตว่าในที่นี้ “มกุฏ” สะกดด้วย ฏ ปฏัก บาลีอ่านว่า มะ-กุ-ตะ รากศัพท์มาจาก มกิ (ธาตุ = ประดับ) + อุฏ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ มกิ (มกิ > มก)

: มกิ > มก + อุฏ = มกุฏ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บุคคลย่อมประดับ (ศีรษะ) ด้วยสิ่งนั่น เหตุนั้นจึงชื่อ มกุฏ” = เครื่องประดับศีรษะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มกุฏ” ว่า a crest (เทริด, ตราที่เป็นเครื่องหมาย)

คำว่า “มกุฎ” หรือ “มงกุฎ” ถ้าให้แปลเป็นอังกฤษ เรามักนึกถึงคำว่า crown แต่ในที่นี้โปรดสังเกตว่าเจ้าของภาษาอังกฤษแท้ๆ ไม่ได้แปล “มกุฏ” ว่า crown

บาลี “มกุฏ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มกุฎ” และ “มงกุฎ” (สะกดด้วย ชฎา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มกุฎ : (คำนาม) มงกุฎ. (คำวิเศษณ์) สูงสุด, ขั้นสูง, เช่น อันกอปรด้วยลักณณษการอดุลย์ สุนทรเทพมกุฎ (ม. คำหลวง ทศพร), เจ้าก็เกิดในมกุฎเกศกรุงสีวีราษฎร์ (ม. ร่ายยาว กุมาร) (ป., ส. มกุฏ).”

ที่คำว่า “มงกุฎ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

มงกุฎ : (คำนาม) เครื่องสวมพระเศียรพระมหากษัตริย์ เศียรพระพุทธรูปทรงเครื่องหรือเทวรูปเป็นต้น มีลักษณะต่าง ๆ กัน โดยปริยายใช้เรียกเครื่องประดับศีรษะที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น มงกุฎนางงามจักรวาล มงกุฎนางสาวไทย. (คำวิเศษณ์) สูงสุด, ยอดเยี่ยม.”

(๒) “พันธน

บาลีเขียน “พนฺธน” อ่านว่า พัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: พนธฺ + ยุ > อน = พนฺธน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขาผูกไว้” “วัตถุเป็นเครื่องผูก

นักเรียนบาลีแปล “พนฺธน” ว่า เครื่องผูก แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ไว้อีกหลายอย่าง คือ –

(1) binding, bond, fetter (เครื่องผูก, เครื่องมัด, เครื่องรัด)

(2) tying, band, ligature; tie, binding (การมัด, การผูก, การพัน, ผ้าหรือเชือกพันหรือรัดแผล, เครื่องผูกพัน)

(3) holding together, composition, constitution; composition of literature (การยึดถือไว้ด้วยกัน, การประกอบ, การก่อตั้ง; การประพันธ์)

(4) joining together, union, company (การรวมกัน, หมู่หรือบริษัท)

(5) handle (ด้าม)

(6) piecing together (การปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน)

(7) strap (สายรัด)

(๓) “เจดีย์

บาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา

(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิ + + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น

(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต

(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร

เจติย” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “เจดีย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจดีย-, เจดีย์ ๑ : (คำนาม) สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น, สิ่งหรือบุคคลที่เคารพนับถือ. (ป. เจติย; ส. ไจตฺย).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เจดีย์” ไว้ว่า –

เจดีย์ : ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา,

เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี 4 อย่างคือ

1. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

2. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย

3. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์

4. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป;

ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น

ดูเพิ่มเติม : “เจดีย์” บาลีวันละคำ (1,138) 7-7-58

การประสมคำ :

มกุฏ + พนฺธน = มกุฏพนฺธน แปลว่า “การผูกมกุฎ” “การคาดมกุฎ” “สถานอันเป็นที่คาดมกุฎ

มกุฏพนฺธน + เจติย = มกุฏพนฺธนเจติย (มะ-กุ-ตะ-พัน-ทะ-นะ-เจ-ติ-ยะ) แปลว่า “เจดียสถานอันเป็นที่คาดมกุฎ

มกุฏพนฺธนเจติย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “มกุฏพันธนเจดีย์” (ในที่นี้ “มกุฏ” สะกดด้วย ฏ ปฏัก)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

มกุฏพันธนเจดีย์ : ที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ อยู่ทิศตะวันออกของนครกุสินารา.”

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 348 อรรถกถามหาปรินิพพานสูตรไขความคำว่า “มกุฏพนฺธน” ไว้ว่า “สีสปสาธนมงฺคลสาลา” แปลว่า “ศาลาประกอบพิธีมงคลประดับศีรษะ

มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้รู้ว่า เจ้ามัลละแห่งนครกุสินาราใช้ระบอบการปกครองแบบหมุนเวียนอำนาจ คือผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเป็นกษัตริย์ตามวาระ เจ้ามัลละที่ถึงวาระขึ้นเป็นกษัตริย์จะประกอบพิธีสวมมงกุฎที่ศาลาหลังนี้ ดังนั้นจึงเรียกศาลาหลังนี้ว่า “สีสปสาธนมงฺคลสาลา” = ศาลาประกอบพิธีมงคลประดับศีรษะ” > “มกุฏพนฺธน” = ศาลาสวมมงกุฎ

เมื่อใช้สถานที่ตรงนี้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จึงเรียกชื่อเป็นอนุสรณ์ว่า “มกุฏพันธนเจดีย์” สืบมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางคนเผาไปแล้วเป็นพันปี

โลกยังระลึกถึงความดีมิรู้วาย

: บางคนยังไม่ทันตาย

คนทั้งหลายช่วยกันเผาอยู่ทุกเวลานาที

#บาลีวันละคำ (2,185)

6-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย