บาลีวันละคำ

โลหิตุปบาท (บาลีวันละคำ 2,188)

โลหิตุปบาท

หนึ่งในอนันตริยกรรม

อ่านว่า โล-หิ-ตุบ-บาด หรือ โล-หิด-ตุบ-บาด ก็ได้

ประกอบด้วยคำว่า โลหิต + อุปบาท

(๑) “โลหิต

บาลีอ่านว่า โล-หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก รุหฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (รุหฺ + อิ + ),แผลง อุ ที่ รุ-(หฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น (รุหฺ > โรห > โลห)

: รุหฺ + อิ + = รุหิต > โรหิต > โลหิต แปลตามศัพท์ว่า “ของเหลวที่เกิดอยู่ในร่างกายโดยกระจายไปทั่ว” (รุหติ สรีเร พฺยาปนวเสนาติ โลหิตํ)

โลหิต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (เป็นคำนาม) เลือด (blood)

(2) (เป็นคุณศัพท์) แดง (red)

โลหิต” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “โลหิต” (โล-หิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

โลหิต : (คำนาม) เลือด. (คำวิเศษณ์) สีแดง, โรหิต ก็ว่า. (ป., ส.).

(๒) “อุปบาท

บาลีเป็น “อุปฺปาท” (อุบ-ปา-ทะ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท), ซ้อน ปฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ปฺ + ปทฺ)

: อุ + ปฺ + ปทฺ = อุปฺปทฺ + = อุปฺปทณ > อุปฺปท > อุปฺปาท แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไป” หมายถึง การอุบัติ, การปรากฏขึ้น, การเกิด (coming into existence, appearance, birth)

บาลี “อุปฺปาท” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุบาท” (อุ-บาด) และ “อุปบาท” (อุบ-บาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาท, อุปบาท : (คำนาม) การบังเกิด, กําเนิด, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น พุทธุบาท (พุทธ + อุบาท), พุทธุปบาท (พุทธ + อุปบาท). (ป. อุปฺปาท; ส. อุตฺปาท).”

โปรดสังเกตว่า “อุบาท” คำนี้เป็นคนละคำกับ “อุบาทว์” ที่เราคุ้นกันดีอีกคำหนึ่ง ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน เพราะรากศัพท์ต่างกัน ความหมายก็ต่างกัน (ดูเพิ่มเติม: “อุบาทว์” บาลีวันละคำ (472) 30-8-56)

โลหิต + อุปฺปาท = โลหิตุปฺปาท (โล-หิ-ตุบ-ปา-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิดขึ้นแห่งโลหิต” หรือ “การยังโลหิตให้เกิดขึ้น” หมายถึง การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป (wounding of a Buddha; causing a Buddha to suffer a contusion or to bleed)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “โลหิตุปฺปาท” ไว้ว่า the crime of wounding A Tathāgata, one of the anantariya-kammas (การทำอันตรายต่อพระตถาคต, เป็นหนึ่งในบรรดาอนันตริยกรรม)

โลหิตุปฺปาท” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “โลหิตุปบาท” หรืออาจเขียนเป็น “โลหิตุบาท” (ไม่มี สะกด) อีกรูปหนึ่งก็ได้

โลหิตุปบาท” หรือ “โลหิตุบาท” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

โลหิตุปบาท” เป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่งในอนันตริยกรรม (กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลรุนแรงต่อเนื่องไป โดยไม่มีกรรมอื่นจะมากั้นหรือคั่นได้) 5 คือ –

1. มาตุฆาต ฆ่ามารดา

2. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา

3. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์

4. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป

5. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์

ดูเพิ่มเติม: “อนันตริยกรรม” บาลีวันละคำ (1,057) 10-4-58

น่าสังเกตว่า คำที่เป็นชื่ออนันตริยกรรมเหล่านี้ คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต สังฆเภท มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “โลหิตุปบาท” ไว้ ทั้งๆ ที่ในคำว่า “อรหันตฆาต” พจนานุกรมฯ ก็ระบุชื่ออนันตริยกรรมไว้ครบทุกชื่อซึ่งก็รวมทั้งคำว่า “โลหิตุปบาท” นี้ด้วย

…………..

อภิปราย :

ในพุทธประวัติ ปรากฏว่าพระเทวทัตเป็นผู้ทำ “โลหิตุปบาท” ครั้งหนึ่ง กล่าวคือพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเลื่อมใสพระเทวทัต ครั้นได้ครองราชย์ในกรุงราชคฤห์แล้วพระเทวทัตได้กำลังจากฝ่ายบ้านเมืองมาดำเนินการพยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้ง เช่น จัดพรานธนูไปดักสังหาร ปล่อยช้างดุนาฬาคีรีให้เข้ามาทำร้ายบนทางเสด็จ

ครั้งหนึ่งพระเทวทัตได้กลิ้งก้อนศิลาลงมาจากเขาคิชฌกูฏจะให้ทับพระพุทธองค์ แต่ศิลาไปกระทบแง่หินทำให้พลาดเป้าหมาย ถึงกระนั้นสะเก็ดหินก้อนหนึ่งได้กระเด็นมากระทบพระบาททำให้พระโลหิตห้อขึ้น และนั่นเองจึงเป็น “โลหิตุปบาท” หนึ่งในอนันตริยกรรม

กาลบัดนี้ไม่มีใครมีโอกาสทำ “โลหิตุปบาท” ได้อีกแล้วเพราะพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว

แต่ถ้าเปรียบพระพุทธศาสนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า —

การอาศัยอำนาจตามกฎหมายทำร้าย-ทำลายพระสงฆ์ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความผิดชัดเจน อุปมาเหมือน “โลหิตุปบาท” = ทำให้ถึงเลือดตก

การขุดรากถอนโคนพระพุทธศาสนา อุปมาเหมือนปลงพระชนม์ = ทำให้ถึงตาย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะเทือนไปทั่วประเทศ ด้วยเหตุทำให้ถึงเลือดตก

: สะท้านไปถึงมหานรก ถ้าคิดจะทำให้ถึงตาย

—————

(ส่งการบ้าน คุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

#บาลีวันละคำ (2,188)

9-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *