บาลีวันละคำ

อรหันตฆาต (บาลีวันละคำ 2,189)

อรหันตฆาต

หนึ่งในอนันตริยกรรม

อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ-คาด

ประกอบด้วยคำว่า อรหันต + ฆาต

(๑) “อรหันต” บาลีเป็น “อรหนฺต” (อะ-ระ-หัน-ตะ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) อรห (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

(2) (= ไม่, ไม่ใช่) > + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง

(3) อริ (= ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว

(4) อร (= ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว

(5) (= ไม่ใช่, ไม่มี) > + รห (= การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก

(6) (= ไม่ใช่, ไม่มี) > + รห (= ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว

อรหนฺต” ในบาลีเมื่อใช้ในข้อความจริง มักเปลี่ยนรูปเป็น “อรหํ” (อะ-ระ-หัง) หรือ “อรหา” (อะ-ระ-หา)

อรหนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรหันต-, อรหันต์ : ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต)”

พระอรหันต์” ในความเข้าใจเป็นกลางๆ คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้วด้วยประการทั้งปวง

พระอรหันต์มี 2 ประเภท คือ –

(1) พระอรหันต์ที่หมดกิเลส แต่มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น

(เรียกว่า พระสุกขวิปัสสก)

(2) พระอรหันต์ที่หมดกิเลส และทรงคุณวิเศษอย่างอื่นด้วย เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ (เรียกว่า พระสมถยานิก)

: สรุปหลักพื้นฐานที่ควรทราบและควรตระหนักเกี่ยวกับพระอริยบุคคล (พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์)

(1) พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามีอาจเป็นคฤหัสค์ครองเรือนก็ได้

(2) คฤหัสถ์ก็สามารถบรรลุธรรมสูงสุดเป็นพระอรหันต์ได้ แต่จะมีคติเป็น 2 คือ (1) หลังจากบรรลุแล้วต้องถือเพศเป็นบรรพชิตในวันนั้น หรือ (2) ดับขันธ์ในวันนั้น

(3) พระอรหันต์ไม่หัวเราะ ไม่ยิ้ม ไม่มีอาการเริงร่าเพราะถูกใจชอบใจเรื่องใดๆ แต่อาจมีกิริยาแย้มเล็กน้อยได้ ส่วนด้านโทสะ แม้เพียงความหงุดหงิดก็ละได้แล้วตั้งแต่เป็นพระอนาคามี

(4) พระอรหันต์ไม่ฝัน เนื่องจากจิตสงบลึก (อาการฝันเกิดในขณะที่หลับไม่สนิท)

(5) พระอรหันต์ไม่เกิดอีก

(๒) “ฆาต

บาลีอ่านว่า คา-ตะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง หนฺ เป็น ฆาต

: หนฺ+ = หน > ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)

ในทางหลักภาษา “ฆาต” อาจแปลได้หลายลักษณะ คือ

– การทำให้ตาย > การฆ่า

– ผู้ทำให้ตาย > ผู้ฆ่า

– อุปกรณ์เป็นเครื่องทำให้ตาย > เครื่องมือฆ่า

– สถานที่เป็นที่ทำให้ตาย > ที่ฆ่า > ที่ตาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฆาต, ฆาต– : (คำนาม) การฆ่า, การทำลาย. (คำกริยา) ตี เช่น เจ้าวิลาสฆาตกลองเร่งกองรบ (อภัย).”

อรหนฺต + ฆาต = อรหนฺตฆาต (อะ-ระ-หัน-ตะ-คา-ตะ) แปลว่า “การฆ่าพระอรหันต์” 

 “อรหนฺตฆาต” ในภาษาไทยใช้เป็น “อรหันตฆาต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรหันตฆาต : (คำนาม) การฆ่าพระอรหันต์, นับว่าเป็นบาปหนักที่สุดอย่าง ๑ ในอนันตริยกรรม ๕ อันได้แก่ ๑. ปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดา ๒. มาตุฆาต คือ ฆ่ามารดา ๓. อรหันตฆาต คือ ฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท คือ ทำให้พระกายพระพุทธเจ้าห้อเลือด ๕. สังฆเภท คือ ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน. (ป.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [245] แสดงเรื่อง “อนันตริยกรรม” ไว้ดังนี้ :

อนันตริยกรรม 5 (กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลรุนแรงต่อเนื่องไป โดยไม่มีกรรมอื่นจะมากั้นหรือคั่นได้ — Anantariya-kamma: immediacy-deeds; heinous crimes which bring immediate, uninterrupted and uninterruptible results) :

1. มาตุฆาต (ฆ่ามารดา — Mātughāta: matricide)

2. ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา — Pitughāta: patricide)

3. อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์ — Arahantaghāta: killing an Arahant)

4. โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป — Lohituppāda: causing a Buddha to suffer a contusion or to bleed)

5. สังฆเภท (ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์ — Saŋghabheda: causing schism in the Order)

ดูเพิ่มเติม: “อนันตริยกรรม” บาลีวันละคำ (1,057) 10-4-58

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คิดจะฆ่าใคร

: ฆ่ากิเลสในใจของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,189)

10-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย