สงเคราะห์ – อนุเคราะห์ (บาลีวันละคำ 2,186)
สงเคราะห์ – อนุเคราะห์
อ่านว่า สง-เคฺราะ อะ-นุ-เคฺราะ
(๑) “สงเคราะห์”
บาลีเป็น “สงฺคห” (สัง-คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)
: สํ > สงฺ + คหฺ = สงฺคหฺ + อ = สงฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การจับยึดไว้พร้อมกัน”
“สงฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การรวม, การรวบรวม, การสะสม (collecting, gathering, accumulation)
(2) การประกอบ, การเก็บรวบรวม, การกอปรด้วย, การจัดชั้นหรือประเภท (comprising, collection, inclusion, classification)
(3) การรวม, การประกอบความรู้สึก, องค์ (inclusion, constitution of consciousness, phase)
(4) การประมวล, การรวบรวมคัมภีร์ (recension, collection of the Scriptures)
(5) อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour)
ในที่นี้ “สงฺคห” ใช้ในความหมายตามข้อ (5)
บาลี “สงฺคห” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺรห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สงฺคฺรห” ไว้ดังนี้ –
“สงฺคฺรห : (คำนาม) ‘สังคระหะ, สงเคราะห์,’ รจนาและสังเขป; ปริคณนา, ปริสังขยา, นามาวลี, รายชื่อ; ปริมาณ, สมุหะ, คณะ; การระงับ; การหยิบฉวย-จับกุม-หรือถือเอา; ประสาทน์; การปรนปรือหรือให้ความสุขด้วยประการต่างๆ; การคุ้มครองหรือรักษา; ที่เก็บติปาฐะ; สัญญา; ความสูง; เวค, ความเร็ว; การกำหมัด; อุตสาหะ; compilation and abridgment; a catalogue, a list, a list of names; quantity, collection; restraining; seizing, laying hold of, or taking; propitiating, pleasing or satisfying; protecting or guarding; a place where anything is kept; agreement or contract; assent or promise; loftiness; velocity; clenching the fist; effort.”
บาลี “สงฺคห” สันสกฤต “สงฺคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “สงเคราะห์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สงเคราะห์ : (คำนาม) การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์. (คำกริยา) อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า. (ส. สงฺคฺรห; ป. สงฺคห).”
(๒) “อนุเคราะห์”
บาลีเป็น “อนุคฺคห” (อะ-นุก-คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อนุ + คฺ + คหฺ)
: อนุ + คฺ + คหฺ = อนุคฺคหฺ + อ = อนุคฺคห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การตามจับยึดไว้” หมายถึง การอนุเคราะห์, ความรักใคร่, ความกรุณา, การช่วยเหลือ, การสงเคราะห์, คุณประโยชน์ (compassion, love for, kindness, assistance, help, favour, benefit)
บาลี “อนุคฺคห” สันสกฤตเป็น “อนุคฺรห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อนุคฺรห” ไว้ดังนี้ –
“อนุคฺรห : (คำนาม) อนุเคราะห์, การสงเคราะห์; a favour, a kind deed.”
บาลี “อนุคฺคห” สันสกฤต “อนุคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “อนุเคราะห์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนุเคราะห์ : (คำกริยา) เอื้อเฟื้อ, ช่วยเหลือ. (ส. อนุคฺรห; ป. อนุคฺคห).”
อภิปราย :
“สงเคราะห์ – อนุเคราะห์” ในภาษาไทยนิยมพูดควบกันเป็น 2 คำ มีความหมายว่า ช่วยเหลือกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันด้วยน้ำใจไมตรี ใครตกทุกข์ได้ยากหรือมีปัญหา ก็เข้าไปช่วยดูแลแก้ไขให้กันเท่าที่สามารถจะช่วยได้
เคยได้ยินนักขบธรรมะพยายามแยกความหมายของคำ 2 คำนี้เพื่อให้แตกต่างกัน เช่น –
ผู้น้อยช่วยเหลือผู้ใหญ่ เรียกว่า “สงเคราะห์”
ผู้ใหญ่ช่วยเหลือผู้น้อย เรียกว่า “อนุเคราะห์”
ช่วยเหลือเป็นครั้งคราวหรือตามโอกาส เรียกว่า “สงเคราะห์”
ช่วยเหลือต่อเนื่องกันเป็นประจำ เรียกว่า “อนุเคราะห์”
แต่โดยทั่วไปแล้วมักใช้รวมๆ กันไป ไม่ได้แยกความหมายเด็ดขาดชัดเจน
การสงเคราะห์อนุเคราะห์กันนี้ ในทางธรรมท่านเปรียบเหมือนลิ่มสลักที่ยึดส่วนประกอบต่างๆ ของรถให้คุมรูปเป็นรถแล่นไปมาได้
…………..
: นอตตัวเล็กๆ ตัวเดียว
อาจยึดฟันเฟืองเครื่องจักรขนาดใหญ่ให้ทำงานได้เป็นปกติ ฉันใด
: น้ำใจไมตรีจากคนตัวเล็กๆ คนเดียว
อาจยึดโยงสังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขได้ ฉันนั้น
ดูก่อนภราดา!
ท่านอาจเป็นนอตตัวนั้นก็ได้
———-
ภาพประกอบ: ด้วยความสงเคราะห์อนุเคราะห์ของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์ – กราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
#บาลีวันละคำ (2,186)
7-6-61