ศัสตราวุธ (บาลีวันละคำ 2,191)
ศัสตราวุธ
อ่านว่า สัด-ตฺรา-วุด
ประกอบด้วยคำว่า ศัสตร + อาวุธ
(๑) “ศัสตร”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ
: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์”
บาลี “สตฺถ” สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศัสตร– : (คำนาม) ศัสตรา, ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง. (ส.).”
(๒) “อาวุธ”
บาลีอ่านว่า อา-วุ-ทะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ยุธ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + อ ปัจจัย แปลง ย เป็น ว (ยุธ > วุธ)
: อา + ยุธ = อายุธฺ + อ = อาวุธ
สูตรแสดงความหมายของศัพท์ว่า “อาทาย ยุชฺฌนฺเต ยนฺติ อาวุธํ” (อาทายะ ยุชฌันเต ยันติ อาวุธัง) แปลว่า “คนทั้งหลายถือเอาสิ่งใดไปรบกัน สิ่งนั้นชื่อว่า อาวุธ”
“อาวุธ” จึงแปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่คนถือเอาไปรบกัน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาวุธ” ว่า an instrument to fight with, a weapon, stick etc. (เครื่องมือสำหรับต่อสู้, อาวุธ, ไม้พลอง ฯลฯ)
อีกรูปหนึ่งของ “อาวุธ” คือ “อายุธ” ซึ่งพ้องกับรูปสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อายุธ : (คำนาม) อาวุธทั่วไป (ไม่จำกัดประเภท); a weapon (in general).”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาวุธ : (คำนาม) เครื่องมือที่ใช้ในการทำร้าย ทำลาย ป้องกัน ต่อสู้ หรือฆ่า; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ. (ป. อาวุธ, อายุธ; ส. อายุธ).”
ศัสตร + อาวุธ = ศัสตราวุธ แปลตามความว่า “อาวุธที่มีคม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ศัสตรา” และ “ศัสตราวุธ” บอกไว้ว่า –
“ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).”
ขยายความ :
อาวุธมีหลายชนิด แต่เฉพาะที่เรียกว่า “ศัสตราวุธ” จะต้องเป็นชนิดที่มีคม เช่น ดาบ ใช้คมฟันหรือเชือด หอก หลาว ใช้คมทิ่มหรือแทงเป็นต้น ตามนัยนี้อาวุธบางอย่างจะเรียกว่า “ศัสตราวุธ” ไม่ได้เพราะไม่มีคม เช่น กระบอง ไม้พลอง
แต่อาวุธบางอย่างยังน่าสงสัยว่าจะเรียกว่า “ศัสตราวุธ” ได้หรือไม่ เช่น ปืน ระเบิด จะว่ามีคมก็ไม่ใช่ เพราะมองไม่เห็นคม จะว่าไม่มีคมก็ไม่เชิง เพราะสามารถทะลุเข้าไปในเป้าหมายได้
รูปคำ “ศัสตรา” ตามพจนานุกรมฯ ชวนให้เข้าใจว่า “ศัสตราวุธ” จะแยกคำเป็น ศัสตรา + อาวุธ ก็ได้
เฉพาะคำว่า “อาวุธ” พจนานุกรมฯ บอกว่า-โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้ที่ใช้อำนาจ แต่ขาดปัญญา
: อำนาจนั้นจะเป็นศัสตราทำลายตัวเอง
#บาลีวันละคำ (2,191)
12-6-61