บาลีวันละคำ

วิกาล (บาลีวันละคำ 2,202)

วิกาล

คือเวลาไหนกันแน่

อ่านว่า วิ-กาน

วิกาล” บาลีอ่านว่า วิ-กา-ละ รากศัพท์มาจาก วิ + กาล

(1) “วิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน

(2) “กาล” (กา-ละ) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

: วิ + กาล = วิกาล แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ต่างไป” (คือไม่ตรงกับเวลาที่กำหนดในกรณีนั้นๆ) หมายถึง ผิดเวลา, มิใช่เวลาที่เหมาะ (wrong time, not the proper time)

ถ้ามองในแง่ที่ตรงกันข้ามกับ “กาล” = ในเวลาหรือตามเวลาที่กำหนด “วิกาล” ก็มีความหมายว่า –

(1) ผิดเวลา (at the wrong time)

(2) สายเกินไป (too late)

(3) ดึกมาก [ในกลางคืน] very late [at night])

วิกาล” : ในทางพระวินัยหมายถึงเวลาไหน?

คำว่า “เวลาวิกาล” ในทางพระวินัยมีคำจำกัดความ 2 นัย กล่าวคือ :

๑ กรณีห้ามบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

เวลาวิกาล” หมายถึง ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่

หลักฐานในพระไตรปิฎกแสดงไว้ดังนี้ –

วิกาโล  นาม  มชฺฌนฺติเก  วีติวตฺเต  ยาว  อรุณุคฺคมนา.

แปลว่า

ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล ได้แก่เวลาตั้งแต่เที่ยงวันล่วงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น

ที่มา: สิกขาบทที่ 7 โภชนวรรค วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 509

๒ กรณีห้ามภิกษุณีเข้าไปในบ้านของชาวบ้านในเวลาวิกาล หรือกรณีเที่ยวเตร่ในเวลาวิกาล

เวลาวิกาล” หมายถึง ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่

หลักฐานในพระไตรปิฎกแสดงไว้ดังนี้ –

วิกาโล  นาม  อตฺถงฺคเต  สุริเย  ยาว  อรุณุคฺคมนา.

แปลว่า

ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล ได้แก่เวลาตั้งแต่อาทิตย์อัสดงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น

ที่มา: วินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม 3 ข้อ 206

ขยายความ :

กรณีบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ภาษาบาลีใช้คำว่า “วิกาลโภชน” (วิ-กา-ละ-โพ-ชะ-นะ) หรือที่ใช้ในภาษาไทยว่า “วิกาลโภชน์” (วิ-กา-ละ-โพด) แปลว่า “กินผิดเวลา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิกาลโภชน” ว่า taking a meal at the wrong time, i, e. in the afternoon (กินอาหารผิดเวลา คือกินตอนหลังเที่ยงวัน)

ในบาลีมีคำที่มีความหมายคล้ายกับ “วิกาลโภชน” อีกคำหนึ่ง คือ “อกาลโภชน” หมายถึง การบริโภคในเวลาอันไม่สมควร (eating at the improper time)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิกาล, วิกาล– : (คำวิเศษณ์) ในยามค่ำคืนที่ค่อนไปทางดึก เช่น ขโมยเข้าบ้านในยามวิกาล; ผิดเวลา (ใช้แก่การกินอาหารผิดเวลาตามที่พระวินัยกำหนด นับตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น) เช่น กินอาหารในเวลาวิกาล. (ป.).”

อภิปราย :

ถ้อยคำในสิกขาบทต่างๆ ในพระวินัยก็แบบเดียวกับถ้อยคำภาษาในกฎหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน ดังในพระราชบัญญัติทุกฉบับจะมี “คำจำกัดความ” กำกับไว้ด้วย เช่น –

…….

ในพระราชบัญญัติฉบับนี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

…….

เพราะฉะนั้น “รัฐมนตรี” ในที่นี้ใครจะตีความเอาตามใจชอบให้หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่น จึงไม่อาจทำได้ ฉันใด

คำว่า “วิกาล” ในพระวินัยก็ไม่อาจแปลเอาตามใจชอบได้ ฉันนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ทำผิด คิดเลี่ยงบาลีได้

: แต่เลี่ยงนรกไม่ได้

—————-

(ตอบคำถามของ Apirak Teeralapnanon)

#บาลีวันละคำ (2,202)

23-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *