บาลีวันละคำ

ประหารชีวิต (บาลีวันละคำ 2,201)

ประหารชีวิต

บาลีว่าอย่างไร

ประหาร” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปฺรหาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรหาร : (คำนาม) ‘ประหาร,’ การตี, การทำบาดเจ็บ, การฆ่า; การประหาร; striking, wounding, killing; a blow.”

ประหาร” บาลีเป็น “ปหาร” (ปะ-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การตี

ปหาร” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การประทุษร้าย, การทุบ, การตี (a blow, stroke, hit)

(2) บาดแผล (a wound)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประหาร : (คำนาม) การตี, การฟัน, การล้าง, การผลาญ. (คำกริยา) ฆ่า, ทําลาย. (ส. ปฺรหาร; ป. ปหาร).”

ในภาษาไทย เรามักเข้าใจว่า “ประหาร” คือ “ฆ่า” คือทำให้ตาย ดังคำว่า “ประหารชีวิต” (ลงโทษฆ่า)

แต่ในภาษาบาลี “ปหาร” มีความหมายย่อยแตกต่างกันออกไป เช่น –

ประหารด้วยฝ่ามือ = ตบ

ประหารด้วยกำมือ = ต่อย, ชก

ประหารด้วยด้วยเท้า = เตะ, ถีบ

ประหารด้วยศอก = ถอง

ประหารด้วยไม้ = ตี, ฟาด, หวด

ประหารด้วยดาบ = ฟัน

ประหารด้วยหอก = แทง

จะเห็นได้ว่า “ประหาร” ในภาษาบาลีหมายถึง “ทำร้าย” ไม่ใช่ “ทำให้ตาย

ในภาษาไทย เมื่อมีคำว่า “ชีวิต” มาขยายเป็น “ประหารชีวิต” อาจทำให้ความหมายตรงตามที่เข้าใจกัน

ประหารชีวิต” แปลว่า “ทำร้ายต่อชีวิต” ก็คือ “ทำให้ตาย

ประหารชีวิต” แปลงกลับเป็นบาลีว่า “ชีวิตปฺปหาร” (ชี-วิ-ตับ-ปะ-หา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การทำร้ายชีวิต

แต่ในภาษาบาลี ความหมายที่ว่า “ประหารชีวิต” หรือลงโทษฆ่า ไม่ได้ใช้ศัพท์ว่า “ชีวิตปฺปหาร” และในคัมภีร์ก็ยังไม่พบคำเช่นนี้

ลงโทษฆ่า” ในภาษาบาลีใช้คำว่า “วชฺฌ” (วัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = ฆ่า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ ที่ ณฺย (ณฺย > ), แปลง หนฺ เป็น วธฺ (หนฺ > วธฺ), แปลง ธฺย (คือ ที่ วธฺ และ ที่ ณฺ) เป็น ชฺฌ

: หนฺ > วธฺ + ณฺย = วธณฺย > วธย > วชฺฌ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่พึงฆ่า” หมายถึง สมควรฆ่าหรือประหารชีวิต; ผู้ที่จะต้องประหารชีวิต; สมควรจะตาย (to be killed, slaughtered or executed; object of execution; meriting death)

ในคัมภีร์มีคำว่า “วชฺฌ” ที่ใช้ในที่ต่างๆ หลายคำ เช่น

วชฺฌปฺปตฺต, วชฺฌภาวปตฺต ผู้ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต (condemned to death)

วชฺฌโจร อาชญากรที่รอการถูกประหาร (a criminal waiting to be executed)

วชฺฌปฏหเภริ กลองที่ตีเพื่อเป็นสัญญาณประหารนักโทษ (the execution drum)

วชฺฌฆาต คำนี้คือที่ใช้ในภาษาไทยว่า “เพชฌฆาต” (a slaughterer, executioner)

แถม :

ช่วงเวลานี้มีการถกเถียงกันว่า โทษประหารชีวิตควรมีอยู่ หรือไม่ควรมี

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความเห็น แต่มีคำถามเกี่ยวกับตัวเลข …

เมื่อผู้ฆ่าถูกตัดสินว่าผิด มีผู้ออกมาขอให้ไว้ชีวิตหลายหน้า

แต่ตอนที่ผู้ถูกฆ่าถูกเขาฆ่า มีกี่หน้าที่ออกมาช่วยขอชีวิต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าโทษประหารเป็นปลายเหตุ

: โทษที่ไม่ประหาณกิเลสก็เป็นต้นสาย

#บาลีวันละคำ (2,201)

22-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย