สุนิยม – ทุนิยม (บาลีวันละคำ 2,211)
สุนิยม – ทุนิยม
อ่านตรงตัวว่า สุ-นิ-ยม / ทุ-นิ-ยม
มีคำที่ควรรู้ 3 คำ คือ “สุ” “ทุ” และ “นิยม”
(๑) “สุ”
ในภาษาบาลีเป็นคำอุปสรรค ” นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “สุ : ดี, งาม, ง่าย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)
(๒) “ทุ”
เป็นคำอุปสรรคเช่นเดียวกับ “สุ” นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ทุ : ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ทุ-” ไว้ว่า bad, wrong, perverseness, difficulty, badness (ชั่ว, ผิด, ยาก, ลําบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว)
ทบทวนความรู้ :
“คําอุปสรรค” หมายถึง คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง
(๓) “นิยม”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ ปัจจัย
: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + อ = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)
“นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)
(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)
(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)
ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิยม : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”
สุ + นิยม = สุนิยม แปลตามศัพท์ว่า “กำหนดดี” หมายถึง กำหนดเห็นแต่ส่วนที่ดีงาม
ทุ + นิยม = ทุนิยม แปลตามศัพท์ว่า “กำหนดชั่ว” หมายถึง กำหนดเห็นแต่ส่วนที่เลวร้าย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ทุทรรศนนิยม” อีกคำหนึ่ง เก็บไว้คู่กับ “ทุนิยม” บอกไว้ดังนี้ –
“ทุทรรศนนิยม, ทุนิยม : (คำนาม) ทฤษฎีที่ถือว่า โลก ชีวิตและมนุษย์ เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด; การมองโลกในแง่ร้าย. (อ. pessimism).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ทุนิยม” ไว้ แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “สุนิยม” ไว้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะคำทั้ง 2 นี้เป็นคำคู่กัน ถ้าเก็บคำหนึ่งก็ควรเก็บอีกคำหนึ่งด้วย ถ้าไม่เก็บก็น่าจะไม่เก็บทั้งคู่
“สุนิยม” เป็นศัพท์ทางปรัชญา บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า optimism
“ทุนิยม” เป็นศัพท์ทางปรัชญา บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า pessimism
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำอังกฤษชุดนี้เป็นไทยดังนี้ –
optimism : การมองในแง่ดี, ความเบิกบานใจ
optimist : ผู้ที่มองเหตุการณ์ไปในทางดี
pessimism : มองดูในแง่ร้าย
pessimist : คนมองดูสิ่งต่างๆ ในแง่ร้าย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำอังกฤษชุดนี้เป็นบาลีดังนี้ –
optimism : sabbasubhavāda สพฺพสุภวาท (สับ-พะ-สุ-พะ-วา-ทะ) = หลักนิยมที่เห็นแต่เรื่องดีงามในสรรพสิ่ง
optimist : sabbasubhavādī สพฺพสุภวาที (สับ-พะ-สุ-พะ-วา-ที) = ผู้นับถือหลักนิยมที่เห็นแต่เรื่องดีงามในสรรพสิ่ง
pessimism : sabbāsubhavāda สพฺพาสุภวาท (สับ-พา-สุ-พะ-วา-ทะ) = หลักนิยมที่เห็นแต่เรื่องเลวร้ายในสรรพสิ่ง
pessimist : sabbāsubhavādī สพฺพาสุภวาที (สับ-พา-สุ-พะ-วา-ที) = ผู้นับถือหลักนิยมที่เห็นแต่เรื่องเลวร้ายในสรรพสิ่ง
อภิปราย :
“สุนิยม” น่าจะตรงกับคำที่นิยมเรียกกันในเวลานี้ว่า “โลกสวย” ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าพวกโลกสวย มองเห็นแต่ส่วนดี ไม่สนใจส่วนเสีย หรือบางทีก็ไม่เชื่อว่าจะมีส่วนเสียด้วยซ้ำไป
พวกสุนิยมมีเหตุผลว่า ชีวิตนี้ไม่ยาวนาน ไม่ควรเสียเวลาไปกับเรื่องเลวร้าย ควรเลือกรับเลือกเสพแต่สิ่งที่ดีงามดีกว่า เป็นกำไรชีวิต
ส่วน “ทุนิยม” ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้เห็นคำที่ใช้เรียกกันชัดเจน ถ้าจะใช้คำที่ล้อเสียงกัน ก็น่าจะเรียกว่า “โลกเสื่อม” เป็นพวกที่เห็นตรงกันข้าม
พวกทุนิยมก็มีเหตุผลว่า โลกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด จึงไม่ควรหลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวงตา ควรคิดป้องกันและขจัดปัญหาเพื่อชีวิตที่ไม่ยาวนานนี้จะได้อยู่อย่างสงบสุขหมดทุกข์ภัย
…………..
มักมีผู้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นพวกทุนิยม เพราะสอนแต่เรื่องทุกข์ ผู้รู้ท่านว่าพระพุทธศาสนาไม่เป็นทั้ง “ทุนิยม” ไม่เป็นทั้ง “สุนิยม” แต่พระพุทธศาสนาเป็น “สัจนิยม” (สัด-จะ-นิ-ยม) คือมองโลกตามความเป็นจริง สอนให้เห็นความเป็นจริงของโลก อยู่กับโลก แต่จิตใจเป็นอิสระเหนือกระแสโลก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มองโลกสวย ก็ไม่เห็นภัย
: มองโลกจังไร ก็ไม่เห็นความเพริศพริ้ง
: มองโลกตามความเป็นจริง จึงจะรู้ว่าเห็นอะไร
#บาลีวันละคำ (2,211)
2-7-61