บาลีวันละคำ

มลภาวะ (บาลีวันละคำ 2,239)

มลภาวะ

ไม่ใช่, แต่จะใช้, ใครจะทำไม

อ่านว่า มน-ละ-พา-วะ

ประกอบด้วยคำว่า มล + ภาวะ

(๑) “มล

บาลีอ่านว่า มะ-ละ รากศัพท์มาจาก มลฺ (ธาตุ = เคลื่อนที่; มัวหมอง) + ปัจจัย

: มลฺ + = มล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เคลื่อนออกมา” (เช่นสิ่งสกปรกจากร่างกาย) (2) “สิ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง”

มล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์, มลทิน; ความสกปรก, ของโสโครก; ความไม่บริสุทธิ์ (anything impure, stain; dirt; impurity)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

มล : (คุณศัพท์) เปื้อนเปรอะ; dirty; – (คำนาม) สิ่งโสมมหรือเปื้อนเปรอะทั่วไป; บาป; dirt or filth in general; sin.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มละ” เป็นอังกฤษว่า –

Mala: dirt; impurity; stain; refuse; dust.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มล, มล– : (คำนาม) ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. (คำวิเศษณ์) มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์. (ป., ส.).”

(๒) “ภาวะ

บาลีเป็น “ภาว” (พา-วะ) รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น” “สิ่งที่เป็นอย่างนั้นเอง“สิ่งที่มีอยู่ในจิต

ภาว” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”

มล + ภาวะ = มลภาวะ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะคือความสกปรก” ได้ความสั้นๆ แต่เต็มตามรูปศัพท์ว่า “ความสกปรก

ดูเพิ่มเติม: “มลพิษ” บาลีวันละคำ (1,731) 1-3-60

อภิปราย :

เป็นที่เข้าใจกันว่า คำว่า “มลภาวะ” นี้ผู้พูดต้องการให้หมายถึงคำอังกฤษว่า pollution

คำว่า pollution ทางราชการคือราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ในภาษาไทยว่า “มลพิษ” “ภาวะมลพิษ” และ “การก่อมลพิษ” (ดูภาพประกอบ)

ทั้ง 3 คำนี้มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพียงคำเดียวคือ “มลพิษ” บอกไว้ดังนี้ –

มลพิษ : (คำนาม) พิษเกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรกของสิ่งแวดล้อม เช่นในอากาศหรือในน้ำเป็นต้น. (อ. pollution).”

ส่วนคำว่า “ภาวะมลพิษ” และ “การก่อมลพิษ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง “มลพิษ” “ภาวะมลพิษ” และ “การก่อมลพิษ” ไม่ค่อยมีคนใช้มากนัก จะว่าไม่มีใครใช้ตามที่บัญญัติศัพท์ไว้เลยก็แทบจะว่าได้ ที่เห็นใช้กันมากคือ “มลภาวะ” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในรายการศัพท์ที่บัญญัติขึ้นจากคำว่า pollution และก็ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

ดูตามหลักฐานปรากฏว่า ทั้ง 3 คำนี้บัญญัติไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2544 แต่ดูประหนึ่งว่าคนไทยทั้งหลายจะไม่ได้สนใจใคร่รู้แต่ประการใดทั้งสิ้นว่าคำอังกฤษว่า pollution ทางราชการได้บัญญัติศัพท์ในภาษาไทยว่าอะไร หากแต่พอใจที่จะใช้ตามที่มีผู้นิยมใช้กันว่า “มลภาวะ” อยู่นั่นแล้ว

ในกรณีที่ได้เห็นแล้วว่าบัญญัติให้ใช้คำว่าอะไร แต่ไม่ชอบคำเหล่านั้น แต่ชอบคำนี้มากกว่า วิธีปฏิบัติที่ของผู้เจริญแล้วก็คือเสนอความเห็นพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอให้ใช้คำว่า “มลภาวะ” เมื่อหมายถึงคำอังกฤษว่า pollution ในการนี้จะขอเข้าไปถกเถียงแถลงเหตุผลด้วยตนเองด้วยก็ย่อมได้

เมื่อผู้รับผิดชอบจำนนด้วยเหตุผลยอมตกลงให้ใช้คำว่า “มลภาวะ” ได้ตามข้อเสนอ คราวนี้เราก็พร้อมใจกันใช้คำนั้นได้ด้วยความสบายใจ

แต่คนไทยดูจะไม่มีความสุขที่จะทำตามวิธีการดังว่านี้ หากแต่พอใจที่จะทำตามที่ตนพอใจมากกว่า

นอกจากเรื่องภาษาแล้ว แม้เรื่องวัฒนธรรมประเพณี ระเบียบ กติกามารยาทสังคม ตลอดจนหลักคำสอนในพระศาสนา เราก็มีทีท่าอาการทำนองเดียวกัน คือมักไม่ศึกษาเรียนรู้ว่าหลักการและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องคืออย่างไร แต่พอใจที่จะเชื่อตามที่ตนเข้าใจ และพอใจที่จะทำตามที่ตนพอใจ สมดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ทำได้ตามใจคือไทยแท้

…………..

ดูก่อนภราดา!

วินยํ  โส  ปชานาติ…..สาธุ  เตน  สมาคโม

วินยํ  โส  น  ชานาติ…สาธุ  ตสฺส  อทสฺสนํ.

ที่มา: อกิตติชาดก เตรสนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 1815, 1819

: บัณฑิตเคารพหลักการ

: คนพาลไม่รับรู้หลักเกณฑ์

#บาลีวันละคำ (2,239)

30-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย