รับอรุณ – ได้อรุณ (บาลีวันละคำ 2,246)
รับอรุณ – ได้อรุณ
นานไปจะไม่มีใครรู้จัก
ในช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน กฎข้อหนึ่งสำหรับพระภิกษุก็คือ ต้องอยู่ภายในเขตวัดที่จำพรรษาจนกว่าอรุณจะขึ้น
ในแต่ละวัน ถ้าไปทำกิจอย่างอื่นนอกเขตวัดจนมืดค่ำ ต้องกลับเข้าวัดภายในเวลาที่อรุณยังไม่ขึ้น เรียกเป็นคำวัดว่ามา “รับอรุณ” ในเขตวัด
เมื่ออยู่ในเขตวัดตลอดคืนแล้ว ถ้าจะออกจากวัด ต้องให้อรุณขึ้นก่อนจึงออกจากวัดได้ เรียกเป็นคำวัดว่า “ได้อรุณ”
ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ถือว่า “พรรษาขาด” หรือ “ขาดพรรษา” ซึ่งเป็นเหตุให้เสียสิทธิ์ในประโยชน์บางอย่างทางพระวินัย เช่นไม่มีสิทธิ์รับกฐินเป็นต้น
เกณฑ์การ “รับอรุณ” หรือ “ได้อรุณ” กำหนดที่ “อรุณขึ้น” ซึ่งภาษาบาลีใช้ศัพท์ว่า “อรุณุคฺคมน” (อะ-รุ-นุก-คะ-มะ-นะ) ประกอบด้วยคำว่า อรุณ + อุคฺคมน
(๑) “อรุณ”
บาลีอ่านว่า อะ-รุ-นะ รากศัพท์มาจาก อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุณ ปัจจัย
: อรฺ + อุณ = อรุณ แปลตามศัพท์ว่า “แสงที่เป็นไปโดยมีแสงแดงอ่อนๆ” “มีแสงแดงอ่อนๆ” “แสงที่เป็นไปโดยเป็นสีทอง”
“อรุณ” มีความหมาย ๒ อย่างคือ (1) ดวงอาทิตย์ (the sun) (2) รุ่งอรุณ (the dawn)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อรุณ : (คำนาม) นามพระอาทิตย์; เช้า; สีหรือแสงอรุณ; ชายใบ้; name of the sun; the dawn; the colour of the sun; a dumb man.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรุณ : (คำนาม) เวลาใกล้พระอาทิตย์จะขึ้น มี ๒ ระยะ คือ มีแสงขาวเรื่อ ๆ (แสงเงิน) และแสงแดงเรื่อ ๆ (แสงทอง), เวลายํ่ารุ่ง. (ป., ส.).”
(๒) “อุคฺคมน”
อ่านว่า อุก-คะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + คฺ + คมฺ)
: อุ + คฺ + คมฺ = อุคฺคมฺ + ยุ > อน = อุคฺคมน แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไป” หมายถึง การโผล่ขึ้น, การขึ้น; การขึ้นไป (going up, rising; rise)
อรุณ + อุคฺคมน = อรุณุคฺคมน แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไปแห่งอรุณ” หมายถึง ดวงอาทิตย์ขึ้น (sunrise)
“อรุณุคฺคมน” หมายถึงชั่วระยะเวลาที่เห็นดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นทีแรกเท่านั้น ความหมายตรงกับคำไทยว่า “รุ่งอรุณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “รุ่งอรุณ” ไว้ว่า –
“รุ่งอรุณ : (คำนาม) เวลาเช้าตรู่ที่เริ่มเห็นแสงเงินแสงทอง.”
อภิปราย :
สมัยโบราณยังไม่มีอุปกรณ์บอกเวลา ต้องใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด เมื่อต้องปฏิบัติตามพระวินัยเกี่ยวกับ “รับอรุณ” หรือ “ได้อรุณ” ท่านจึงให้กำหนดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น
(1) เมื่อเห็นแสงเงินแสงทอง
(2) เมื่อมองใบไม้แล้วสามารถแยกได้ว่าเป็นใบอ่อนหรือใบแก่ (คือมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์แรกขึ้นมากพอที่จะมองเห็นธรรมชาติรอบตัวได้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร)
(3) บางทีก็ใช้เกณฑ์ “พอมองเห็นลายมือ” คือเมื่อมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากพอที่จะมองเห็นลายเส้นบนฝ่ามือของตัวเอง
เมื่อมองเห็นตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ก็ถือว่า “ได้อรุณ” แล้ว
ปัจจุบันเกณฑ์ “รับอรุณ” หรือ “ได้อรุณ” นิยมกำหนดด้วยเวลาเริ่มวันใหม่ตามมาตรฐานสากล คือเวลา 06:00 นาฬิกา
ข้อสังเกตง่ายๆ อย่างหนึ่งก็คือ นอกพรรษา พระเณรอาจออกบิณฑบาตตั้งแต่ยังไม่สว่าง แต่ในพรรษาต้องรอให้ “ได้อรุณ” ก่อนจึงจะออกบิณฑบาตได้
เพราะฉะนั้น ภายในพรรษาถ้าเห็นพระเณรออกบิณฑบาตตั้งแต่ยังไม่สว่าง โปรดช่วยกันรับทราบไว้ว่า นั่นท่านกำลังทำผิดพระวินัย
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขาดพรรษา เสียสิทธิ์
: ขาดความยั้งคิด เสียคน
#บาลีวันละคำ (2,246)
6-8-61