เทสนาคามินี (บาลีวันละคำ 2,258)
เทสนาคามินี
ท่าทีเหมือนจะคุ้นๆ
อ่านว่า เท-สะ-นา-คา-มิ-นี
แยกศัพท์เป็น เทสนา + คามินี
(๑) “เทสนา”
อ่านว่า เท-สะ-นา รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ”
“เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การเทศน์, การสั่งสอน, บทเรียน (discourse, instruction, lesson)
(2) ควบกับ ธมฺม+เทสนา = ธมฺมเทสนา หมายถึง การสั่งสอนธรรม, การแสดงธรรม, การเทศน์, คำเทศน์หรือสั่งสอน (moral instruction, exposition of the Dhamma, preaching, sermon)
(3) การยอมรับ (โดยชอบด้วยกฎหมาย) ([legal] acknowledgment)
(๒) “คามินี”
รูปคำเดิมเป็น “คามี” (คา-มี) รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (คมฺ > คาม)
: คมฺ + ณี = คมณี > คมี > คามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไป” “ผู้ยังให้ถึง”
“คามี” มีความหมายว่า –
(1) ไป, เดินไป (going, walking)
(2) นำไปสู่, ไปยัง (leading to, making for)
“คามี” เป็นปุงลิงค์ ในที่นี้ใช้เป็นวิเสสนะ (คำขยาย) ของ “อาปตฺติ” (อา-ปัด-ติ = อาบัติ) ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้องแปลงรูป “คามี” ให้เป็นอิตถีลิงค์โดยวิธี + อินี ปัจจัย
: คามี + อินี = คามินี แปลตามศัพท์ว่า “(อาบัติ) อันยังให้ถึง-”
“คามี” หรือ “คามินี” ไม่นิยมใช้เดี่ยว แต่มักต่อท้ายคำอื่น ต่อท้ายคำอะไร ก็มีความหมายว่าดำเนินไปถึงสิ่งนั้น หรือนำไปให้ถึงสิ่งนั้น
คำที่เราน่าจะคุ้นกันดีก็อย่างเช่น “ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา” แปลว่า “ทางดำเนินไปสู่ความดับแห่งทุกข์” (the Path that leads to the Cessation (or, the Extinction) of Suffering)
เทสนา + คามินี = เทสนาคามินี แปลตามศัพท์ว่า “(อาบัติ) อันยังให้ถึงการแสดง”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –
“เทสนาคามินี : อาบัติที่ภิกษุต้องเข้าแล้วจะพ้นได้ด้วยวิธีแสดง, อาบัติที่แสดงแล้วก็พ้นได้, อาบัติที่ปลงตกด้วยการแสดงที่เรียกว่า แสดงอาบัติ หรือ ปลงอาบัติ ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; ตรงข้ามกับ อเทสนาคามินี ซึ่งเป็นอาบัติที่ไม่อาจพ้นได้ด้วยการแสดง ได้แก่ ปาราชิก และสังฆาทิเสส.”
อภิปราย :
กิจวัตรข้อหนึ่งของภิกษุ คือ การสำรวจความประพฤติของตัวเองในแต่ละวันว่าปฏิบัติพระธรรมวินัยบกพร่องอย่างไรบ้างหรือไม่ ถ้าเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดก็ให้เปิดเผยความผิดพลาดนั้นให้เพื่อนภิกษุด้วยกันรับรู้พร้อมทั้งรับปากว่าจะไม่กระทำสิ่งที่ผิดพลาดนั้นอีก เรียกว่า “แสดงอาบัติ” หรือ “ปลงอาบัติ”
อาบัติที่ต้องแสดงคือเปิดเผยให้เพื่อนภิกษุด้วยกันรับรู้จึงจะพ้นโทษผิดได้นี่แหละเรียกว่า “เทสนาคามินี”
แถม : คำแสดงอาบัติ
ภิกษุผู้จะแสดงอาบัติครองจีวรเฉวียงบ่า (ห่มลดไหล่) โดยปกติภิกษุที่มีพรรษาอ่อนกว่าเป็นฝ่ายเข้าไปภิกษุที่มีพรรษาแก่กว่า นั่งคุกเข่า (ตามคัมภีร์ว่านั่งกระโหย่ง) ประนมมือ กล่าวเป็นภาษาบาลี (ในที่นี้บอกคำแปลไว้ให้ด้วยเพื่อให้รู้ความหมาย) –
ภิกษุที่มีพรรษาอ่อนกว่าแสดงก่อน :
พรรษาอ่อนว่า: สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ. (3 หน)
(ขอแจ้งให้ทราบว่ากระผมต้องอาบัติทั้งหมดหลายตัว)
สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ. (3 หน)
(ขอแจ้งให้ทราบว่าอาบัติทั้งหมดเป็นอาบัติหนักบ้างเบาบ้าง)
อะหัง ภันเต สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย
อาปัชชิง ตา ตุม๎หะมูเล ปะฏิเทเสมิ.
(กระผมต้องอาบัติหลายตัว ต่างกรณีกัน ขอแสดงอาบัตินั้นกับท่าน)
พรรษาแก่ว่า: ปัสสะสิ อาวุโส ตา อาปัตติโย.
(คุณยอมรับว่าต้องอาบัตินั้นหรือ?)
พรรษาอ่อนว่า: อุกาสะ อามะ ภันเต ปัสสามิ.
(ถูกแล้วขอรับ กระผมยอมรับ)
พรรษาแก่ว่า: อายะติง อาวุโส สังวะเรยยาสิ.
(ต่อไปคุณควรจะสำรวมระวัง)
พรรษาอ่อนว่า: สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ.
(สาธุ กระผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุดขอรับ)
ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ.
(สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สอง กระผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุดขอรับ)
ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ.
(สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สาม กระผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุดขอรับ)
นะ ปุเนวัง กะริสสามิ. (พรรษาแก่รับว่า สาธุ)
(กระผมจะไม่ทำเรื่องที่ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก)
นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ. (พรรษาแก่รับว่า สาธุ)
(กระผมจะไม่พูดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก)
นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ. (พรรษาแก่รับว่า สาธุ)
(กระผมจะไม่คิดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก)
ภิกษุที่มีพรรษาแก่กว่าแสดง :
พรรษาแก่ว่า: สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ. (3 หน)
(ขอแจ้งให้ทราบว่าผมต้องอาบัติทั้งหมดหลายตัว)
สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ. (3 หน)
(ขอแจ้งให้ทราบว่าอาบัติทั้งหมดเป็นอาบัติหนักบ้างเบาบ้าง)
อะหัง อาวุโส สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย
อาปัชชิง ตา ตุย๎หะมูเล ปะฏิเทเสมิ.
(ผมต้องอาบัติหลายตัว ต่างกรณีกัน ขอแสดงอาบัตินั้นกับคุณ)
พรรษาอ่อนว่า: อุกาสะ ปัสสะถะ ภันเต ตา อาปัตติโย.
(ขอประทานโทษ ท่านยอมรับว่าต้องอาบัตินั้นหรือขอรับ?)
พรรษาแก่ว่า: อามะ อาวุโส ปัสสามิ.
(ถูกแล้ว ผมยอมรับ)
พรรษาอ่อนว่า: อายะติง ภันเต สังวะเรยยาถะ.
(ต่อไปท่านควรจะสำรวมระวังขอรับ)
พรรษาแก่ว่า: สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ.
(สาธุ ผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุด)
ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ.
(สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สอง ผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุด)
ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ.
(สาธุ ขอรับปากเป็นวาระที่สาม ผมจะสำรวมระวังให้ดีที่สุด)
นะ ปุเนวัง กะริสสามิ. (พรรษาอ่อนรับว่า สาธุ)
(ผมจะไม่ทำเรื่องที่ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก)
นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ. (พรรษาอ่อนรับว่า สาธุ)
(ผมจะไม่พูดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก)
นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ. (พรรษาอ่อนรับว่า สาธุ)
(ผมจะไม่คิดเรื่องที่ทำให้ต้องอาบัติเช่นนั้นอีก)
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การให้อภัยเป็นหน้าที่ของบัณฑิต
: การสำนึกผิดเป็นหน้าที่ของอารยชน
#บาลีวันละคำ (2,258)
18-8-61