บาลีวันละคำ

บิณฑิยาโลปโภชนะ – หนึ่งในจตุปัจจัย (บาลีวันละคำ 2,262)

บิณฑิยาโลปโภชนะหนึ่งในจตุปัจจัย

แฝดคนละฝากับ “บิณฑบาต

อ่านว่า บิน-ดิ-ยา-โล-ปะ-โพ-ชะ-นะ

แยกศัพท์เป็น บิณฑิย + อาโลป + โภชนะ

(๑) “บิณฑิย

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ปิณฺฑิย” (ปิน-ดิ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ปิณฺฑ + อิย ปัจจัย

(ก) “ปิณฺฑ” (ปิน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ปิณฺฑฺ (ธาตุ = รวบรวม, ทำให้เป็นกอง) + ปัจจัย

: ปิณฺฑฺ + = ปิณฺฑ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารวมกัน

ปิณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อน, ก้อนกลม, มวลที่หนาและกลม (a lump, ball, thick & round mass)

(2) ก้อนข้าว, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ถวายพระหรือให้ทาน, ทานที่ให้เป็นอาหาร (a lump of food, esp. of alms, alms given as food)

(3) กองรวม, การสะสม, รูปหรือแบบอัดกันแน่น, กอง (a conglomeration, accumulation, compressed form, heap)

(ข) ปิณฺฑฺ + อิย = ปิณฺฑิย (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเนื่องกับก้อน” (ดูคำขยายความข้างหน้า)

(๒) “อาโลป” (อา-โล-ปะ)

รากศัพท์มาจาก อา (อุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ลุปฺ (ธาตุ = รวบรวม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ลุ-(ปฺ) เป็น โอ (ลุปฺ > โลป)

: อา + ลุปฺ = อาลุปฺ + = อาลุปณ > อาลุป > อาโลป แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวอันเขาปั้นรวมกัน” หมายถึง ข้าวเป็นคำๆ, คำข้าว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาโลป” ว่า a piece (cut off), a bit (of food) morsel, esp. bits of food gathered by bhikkhus (ชิ้น (ที่ตัดออก), คำ (ข้าว), ก้อนข้าว (พูดถึงอาหาร), โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึงคำข้าวที่ภิกษุปั้นเป็นคำๆ)

(๓) “โภชน” (โพ-ชะ-นะ)

รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ (ภุชฺ > โภช)

: ภุชฺ + ยุ > อน = ภุชน > โภชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” “สิ่งที่ควรกิน” หมายถึง อาหาร, โภชนะ, ของกินโดยทั่วๆ ไป (food, meal, nourishment in general); การกิน (eating)

การประสมคำ :

(1) ปิณฺฑิย + อาโลป = ปิณฺฑิยาโลป (ปิน-ดิ-ยา-โล-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “คำข้าวที่ (ได้มาจาก) สิ่งอันเนื่องกับก้อน

(2) ปิณฺฑิยาโลป + โภชน = ปิณฺฑิยาโลปโภชน แปลตามศัพท์ว่า “โภชนะคือคำข้าวที่ (ได้มาจาก) สิ่งอันเนื่องกับก้อน

ขยายความ :

คำว่า “ปิณฺฑิยาโลปโภชน” (ปิน-ดิ-ยา-โล-ปะ-โพ-ชะ-นะ) คัมภีร์อรรถกถา (มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 459) ขยายความไว้ว่า “ชงฺฆปิณฺฑิยพเลน  จริตฺวา  อาโลปมตฺตํ  ลทฺธโภชนํ” แปลเอาความว่า “โภชนะพอเป็นคำข้าวที่ภิกษุเดินไปด้วยกำลังแห่งปลีแข้งจึงได้มา

คำว่า “ชงฺฆปิณฺฑิยพเลน” (ด้วยกำลังแห่งปลีแข้ง) เป็นอันชัดเจนว่า คำว่า “ปิณฺฑิย” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเนื่องกับก้อน” ไม่ใช่ “ก้อนข้าว” แต่หมายถึง “ก้อนเนื้อ” หรือ “กล้ามเนื้อ” อย่างคำที่เราพูดกันว่า กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ

คำอธิบายของอรรถกถาจึงมีความหมายว่า ในเมื่อขายังมีกำลังก้าวเดินได้ ภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพจึงจะสมควร

หลักข้อหนึ่งใน 4 หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเจนว่า การออกบิณฑบาตเป็นอริยวงศ์ คือแบบแผนอันประเสริฐของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ออกบิณฑบาต ก็สบาย

: แต่นั่นคือความล่มสลายของอริยวงศ์

#บาลีวันละคำ (2,262)

22-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *