บาลีวันละคำ

บังสุกุลจีวร – หนึ่งในจตุปัจจัย (บาลีวันละคำ 2,261)

บังสุกุลจีวรหนึ่งในจตุปัจจัย

อ่านว่า บัง-สุ-กุน-ละ-จี-วอน

ประกอบด้วยคำว่า บังสุกุล + จีวร

(๑) “บังสุกุล

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ปํสุกูล” อ่านว่า ปัง-สุ-กู-ละ ประกอบด้วยคำว่า ปํสุ + กูล

(ก) “ปํสุ” (ปัง-สุ) รากศัพท์มาจาก ปํสฺ (ธาตุ = พินาศ, เสียหาย) + อุ ปัจจัย

: ปํสฺ + อุ = ปํสุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังของสวยงามให้เสีย” หมายถึง ฝุ่น, ขยะ, สิ่งสกปรก, ดินร่วน (dust, dirt, soil)

(ข) ปํสุ + กุ (ตัดมาจากศัพท์ว่า “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด) + อุลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อุ ที่ กุ (กุ > ) และทีฆะ อุ ที่ อุ-(ลฺ) เป็น อู (อุลฺ > อูล)

: ปํสุ + กุ = ปํสุกุ > ปํสุก + อุลฺ + = ปํสุกุล > ปํสุกูล แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่ถึงภาวะที่น่าเกลียดเหมือนฝุ่นละออง” หมายถึง ผ้าเปื้อนฝุ่น, ผ้าจากกองขยะ (rags from a dust heap)

ปํสุกูล” ในภาษาไทยใช้เป็น “บังสุกุล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐาน ว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้น ว่า ชักบังสุกุล. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปำสุกูล).”

(๒) “จีวร

บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อีวร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ จิ (จิ > )

: จิ > + อีวร = จีวร แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” หมายความว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ

จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเป็นผืน

ภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม (the yellow robe of a Buddhist monk or novice)

ในภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม แต่เรียกแยกออกไปแต่ละชนิด กล่าวคือ –

(1) ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง”

(2) ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร”

(3) ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ)

รวมผ้าทั้ง 3 ผืนเข้าด้วยกันเรียกว่า “ไตรจีวร

ปํสุกูล + จีวร = ปํสุกูลจีวร แปลว่า “จีวรที่สำเร็จด้วยผ้าเปื้อนฝุ่น

ปํสุกูลจีวร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บังสุกุลจีวร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

บังสุกุลจีวร : ผ้าที่เกลือกกลั้วด้วยฝุ่น, ผ้าที่ได้มาจาก กองฝุ่น กองหยากเยื่อซึ่งเขาทิ้งแล้ว ตลอดถึงผ้าห่อคลุมศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านถวาย, ปัจจุบันมักหมายถึงผ้าที่พระชักจากศพโดยตรงก็ตาม จากสายโยงศพก็ตาม.”

อภิปราย :

บังสุกุลจีวร” เป็นหนึ่งในปัจจัยเครื่องอาศัย 4 อย่างของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา คือ (1) บิณฑิยาโลปโภชนะ (อาหาร) (2) บังสุกุลจีวร (เครื่องนุ่งห่ม) (3) รุกขมูลเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) (4) ปูติมุตเภสัช (ยารักษาโรค)

ในคำบอกอนุศาสน์ คือเรื่องที่พระอุปัชฌาย์ต้องชี้แจงเสมือนปฐมนิเทศพระบวชใหม่ในทันที่บวชเสร็จ ท่านแสดงหลักไว้ว่า “ปํสุกูลจีวรํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม” แต่ก็ผ่อนผันให้ใช้ผ้าที่ได้มาโดยวิธีอื่นๆ ได้บ้าง

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาเมื่อจะใช้สอยเครื่องนุ่งห่ม ท่านสอนให้พิจารณาก่อนดังนี้ –

…………..

ปะฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง ปะฏิเสวามิ = เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วนุ่งห่มจีวร

ยาวะเทวะ สีตัสสะ ปะฏิฆาตายะ = เพียงเพื่อบำบัดความหนาว

อุณ๎หัสสะ ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดความร้อน

ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย

ยาวะเทวะ หิริโกปินะปะฏิจฉาทะนัตถัง. = และเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันให้เกิดความละอาย

…………..

การพิจารณาก่อนใช้สอยปัจจัยเช่นนี้เป็นเครื่องแสดงถึงการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของสงฆ์

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตั้งใจทำดี แต่มีบกพร่อง ยังต้องนับว่าฉลาด

: เหมือนนุ่งผ้าขาดยังดีกว่าไม่มีผ้าจะนุ่ง

#บาลีวันละคำ (2,261)

21-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย