บาลีวันละคำ

รุกขมูลเสนาสนะ – หนึ่งในจตุปัจจัย (บาลีวันละคำ 2,263)

รุกขมูลเสนาสนะหนึ่งในจตุปัจจัย

ที่มาของพระรุกขมูล

อ่านว่า รุก-ขะ-มู-ละ-เส-นา-สะ-นะ

ประกอบด้วยคำว่า รุกขมูล + เสนาสนะ

(๑) “รุกขมูล

บาลีอ่านว่า รุก-ขะ-มู-ละ ประกอบด้วยคำว่า รุกข + มูล

(ก) “รุกข” บาลีเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ มีจุดใต้ กฺ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + ปัจจัย

: รุกฺข + = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)

(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ปัจจัย, แปลง เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)

: รุหฺ + = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน

รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ” ใช้ในภาษาไทยว่า “พฤกษ” คือ ต้นไม้

(ข) “มูล” บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + ปัจจัย

: มูลฺ + = มูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น

มูล” ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ :

1 รากไม้ (root)

2 โคน, ก้น (foot, bottom)

3 หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)

4 กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)

5 ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)

6 แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “มูล” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

1 โคน เช่น รุกขมูล

2 ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล

3 เค้า เช่น คดีมีมูล

4 ต้น เช่น ชั้นมูล

5 มวล, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น จัดข้าวของไว้ให้โดยพร้อมมูล เตรียมเอกสารหลักฐานไว้ให้พร้อมมูล

6 อุจจาระสัตว์

7 ขี้หรือเศษของสิ่งต่าง ๆ เช่น มูลไถ = ขี้ไถ

รุกฺข + มูล = รุกฺขมูล แปลตามศัพท์ว่า “โคนต้นไม้” (the foot of a tree)

ในภาษาบาลีนิยมแบ่งต้นไม้ออกเป็น 3 ส่วน :

– ส่วนโคน เรียกว่า “มูล” (มู-ละ)

– ส่วนลำต้น เรียกว่า “มชฺฌิม” (มัด-ชิ-มะ) หรือ “ขนฺธ” (ขัน-ทะ)

– ส่วนปลาย เรียกว่า “อุปริ” (อุ-ปะ-ริ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รุกขมูล : (คำนาม) โคนต้นไม้, เรียกพระที่ถือธุดงค์อยู่โคนไม้ว่า พระรุกขมูล.”

(๒) “เสนาสนะ

บาลีเป็น “เสนาสน” อ่านว่า เส-นา-สะ-นะ ประกอบด้วยคำว่า เสน + อาสน

(ก) “เสน” บาลีอ่านว่า เส-นะ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส)

: สิ + ยุ > อน = สิน > เสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอน” หมายถึง (1) การนอน, การหลับ (lying, sleeping) (2) เก้าอี้นอน, ที่นอน (couch, bed)

(ข) “อาสน” (อา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน) หมายถึง (1) การนั่ง, การนั่งลง (sitting, sitting down) (2) ที่นั่ง, บัลลังก์ (a seat, throne)

หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน

เสน + อาสน = เสนาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นอนและที่เป็นที่นั่ง” หมายถึง ที่นอนและที่นั่ง, เตียงและเก้าอี้, ที่อยู่อาศัย, ที่พักอาศัย (sleeping and sitting, bed & chair, dwelling, lodging)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เสนาสนะ : (คำนาม) ที่นอนและที่นั่ง, ที่อยู่. (ใช้เฉพาะพระภิกษุ สามเณร). (ป. เสน + อาสน).”

รุกฺขมูล + เสนาสน = รุกฺขมูลเสนาสน (รุก-ขะ-มู-ละ-เส-นา-สะ-นะ) > รุกขมูลเสนาสนะ แปลว่า “ที่นอนที่นั่งคือโคนไม้” หมายถึง ใช้โคนไม้เป็นที่พักอาศัย

ขยายความ :

ในต้นพุทธกาล ภิกษุในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่พัก อันเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าเป็นผู้สละละวางทรัพย์สินทั้งปวง แม้กระทั่งที่อยู่ก็อาศัยธรรมชาติล้วนๆ

หลักข้อหนึ่งใน 4 หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่อยู่

แม้ภายหลังจะมีผู้มีศรัทธาสร้างที่พักถวายและมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้สอยได้ การอยู่โคนไม้ก็ยังเป็นข้อปฏิบัติที่ถือกันว่าเป็นการขัดเกลาอัธยาศัยอย่างหนึ่ง ดังปรากฏเป็นธุดงค์ข้อหนึ่งในธุดงค์ 13 ที่เรียกว่า “รุกขมูลิกังคะ” แปลว่า “องค์แห่งภิกษุผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร” (tree-root-dweller’s practice)

…………..

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาเมื่อจะใช้สอยเสนาสนะ ท่านสอนให้พิจารณาก่อนดังนี้ –

…………..

ปะฏิสังขา โยนิโส เสนาสะนัง ปะฏิเสวามิ = เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะ

ยาวะเทวะ สีตัสสะ ปะฏิฆาตายะ = เพียงเพื่อบำบัดความหนาว

อุณ๎หัสสะ ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดความร้อน

ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ = เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย

ยาวะเทวะ อุตุปะริสสะยะวิโนทะนัง ปะฏิสัลลานารามัตถัง. = เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายอันจะพึงมีจากดินฟ้าอากาศ และเพื่อความเป็นผู้ยินดีอยู่ได้ในที่หลีกเร้นสำหรับภาวนา

…………..

การพิจารณาก่อนใช้สอยปัจจัยเช่นนี้เป็นเครื่องแสดงถึงการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของสงฆ์

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

คาเม วา ยทิ วารญฺเญ

นินฺเน วา ยทิ วา ถเล 

ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ

ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.

ที่มา: รามเณยยกสูตร สคาถวรรค สังยุตนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 921

แดนบ้านหรือแดนป่า

แดนธาราหรือแดนดอน

ใจแรมกิเลสรอน

ย่อมรื่นร่มล้วนรมณีย์

#บาลีวันละคำ (2,263)

23-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย