บาลีวันละคำ

ปูติมุตเภสัช – หนึ่งในจตุปัจจัย (บาลีวันละคำ 2,264)

ปูติมุตเภสัชหนึ่งในจตุปัจจัย

ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า-คืออะไร

อ่านว่า ปู-ติ-มุด-ตะ-เพ-สัด

ประกอบด้วยคำว่า ปูติ + มุต + เภสัช

(๑) “ปูติ

บาลีอ่านว่า ปู-ติ รากศัพท์มาจาก ปูยฺ (ธาตุ = มีกลิ่นเหม็น) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ปูยฺ > ปู)

: ปูยฺ + ติ = ปูยติ > ปูติ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เน่า” “สิ่งที่เหม็น” หมายถึง เน่า, เหม็น, ผุ, เหม็นโฉ่ (putrid, stinking, rotten, fetid)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปูติ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) บูด, เน่า. (ป.).”

นักภาษาสันนิษฐานว่า คำว่า “บูด” ในภาษาไทยน่าจะได้เค้ามาจาก “ปูติ” ในบาลีคำนี้

(๒) “มุต

บาลีเป็น “มุตฺต” (มุด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ปัจจัย, แปลง จฺ ที่ (มุ)-จฺ เป็น ตฺ (มุจฺ > มุตฺ)

: มุจฺ + = มุจฺต > มุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่พ้นออกมา

(2) มุตฺตฺ (ธาตุ = ไหล, ไหลออก) + ปัจจัย

: มุตฺตฺ + = มุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ไหลออกมา

มุตฺต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง มูตร, น้ำปัสสาวะ (urine)

มุตฺต” ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “มูตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มูตร : (คำนาม) นํ้าปัสสาวะ, นํ้าเบา, เยี่ยว. (ส. มูตฺร; ป. มุตฺต).”

(๓) “เภสัช

บาลีเป็น “เภสชฺช” (เพ-สัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ภิสช + ณฺย ปัจจัย

(ก) “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ภิสฺ (ธาตุ = เยียวยา) + ปัจจัย

: ภิสฺ + = ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เยียวยา

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺ (ธาตุ = แจกแจง) + ปัจจัย, แปลง วิ เป็น ภิ

: วิ + สชฺ = วิสชฺ + = วิสช > ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คลี่คลายโรค

ภิสช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอยา, แพทย์ (a physician)

(ข) ภิสช + ณฺย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ภิ-(สช) เป็น เอ (ภิสช > เภสช), แปลง กับ ณฺย เป็น ชฺช

: ภิสช + ณฺย = ภิสชณฺย > เภสชณฺย > เภสชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” (สิ่งที่หมอใช้แก้หรือป้องกันโรค) หมายถึง โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา (a remedy, medicament, medicine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เภสัช, เภสัช– : (คำนาม) ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).”

การประสมคำ :

(1) ปูติ + มุตฺต = ปูติมุตฺต (ปู-ติ-มุด-ตะ) แปลว่า “น้ำมูตรดอง

(2) ปูติมุตฺต + เภสชฺช = ปูติมุตฺตเภสชฺช (ปู-ติ-มุด-ตะ-เพ-สัด-ชะ) แปลว่า “เภสัชคือน้ำมูตรดอง

ปูติมุตฺตเภสชฺช” เมื่อใช้ในภาษาไทย :

– “มุตฺต” ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “มุต” แต่ยังคงอ่านว่า มุด-ตะ เท่าคำเดิม

– “เภสชฺช” ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “เภสัช” อยู่ท้ายคำอ่านว่า เพ-สัด

เป็นอันว่าในภาษาไทยคำนี้สะกดว่า “ปูติมุตเภสัช” อ่านว่า ปู-ติ-มุด-ตะ-เพ-สัด หมายถึง ยารักษาโรคที่มาจากน้ำมูตรดอง

อภิปราย :

คำว่า “ปูติมุตฺต” คนเก่าท่านแปลกันว่า “น้ำมูตรเน่า” โดยอธิบายว่า น้ำปัสสาวะแม้จะเพิ่งถ่ายออกมาก็อยู่ในฐานะเป็นของเสีย คือเป็น “ปูติ” ตั้งแต่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะนั่นแล้ว “ปูติมุตฺต” จึงไม่ใช่หมายถึงน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแล้วทิ้งไว้จนแปรสภาพเป็นของบูดเน่า

ในที่นี้เลี่ยงไปแปลว่า “น้ำมูตรดอง” โดยอธิบายว่า น้ำมูตรที่ใช้เป็นยาในที่นี้ไม่ใช่น้ำมูตรเปล่าๆ แต่เป็นน้ำมูตรที่ใส่ผลไม้ที่เป็นสมุนไพรบางอย่างลงไปด้วย ผลไม้ที่กล่าวถึงเสมอก็คือสมอและมะขามป้อม

ดังนั้น “ปูติมุตฺต” โดยความหมายจึงหมายถึงน้ำมูตรที่ดองผลสมอหรือมะขามป้อม (หรืออาจเป็นสมุนไพรอย่างอื่นอีก) นั่นเอง

ข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่งก็คือ “น้ำมูตร” ที่ใช้เป็นยาดังว่านี้เป็นน้ำมูตรของใคร บางท่านบอกว่าเป็นน้ำมูตรของตัวเอง

ในคัมภีร์มีระบุไว้ในที่หลายแห่งว่า “ปูติมุตฺต” หมายถึง “โคมุตฺต” คือน้ำมูตรโค หรือเยี่ยวงัว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปูติมุตฺต” ว่า strong-smelling urine, usually urine of cattle used as medicine by the bhikkhu (มูตรมีกลิ่นแรง, โดยปกติมูตรโคที่ภิกษุใช้เป็นยา)

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์แสดงมติของเกจิอาจารย์ถึงความหมายของ “ปูติมุตฺต” ไว้ 2 นัย คือ –

๑ นัยหนึ่งว่า หมายถึงชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำมูตรโค

๒ อีกนัยหนึ่งว่า หมายถึงเภสัชที่เขาสละ ทิ้ง หรือไม่มีใครหวงแหน (วิสฺสฏฺฐํ  ฉฑฺฑิตํ  อปริคฺคหิตํ) อันจะพึงหาได้ตามที่ต่างๆ

ขยายความ :

หลักข้อหนึ่งใน 4 หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “ปูติมุตฺตเภสชฺชํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยเภสัชคือน้ำมูตรดอง

…………..

บรรพชิตในพระพุทธศาสนาเมื่อจะบริโภคหรือใช้ยารักษาโรค ท่านสอนให้พิจารณาก่อนดังนี้ –

…………..

ปะฏิสังขา โยนิโส คิลานะปัจจะยะเภสัชชะปะริกขารัง ปะฏิเสวามิ = เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วบริโภคเภสัชบริขารอันเกื้อกูลแก่คนไข้

ยาวะเทวะ อุปปันนานัง เวยยาพาธิกานัง เวทะนานัง ปะฏิฆาตายะ = เพียงเพื่อบำบัดทุกขเวทนาอันบังเกิดขึ้นแล้ว มีอาพาธต่างๆ เป็นมูล

อัพ๎ยาปัชฌะปะระมะตายะ = โดยประสงค์อย่างยิ่งก็เพื่อความเป็นผู้ไม่มีโรคเบียดเบียน (มิใช่มุ่งจะเพิ่มกำลังวังชาหรือเพื่อความสดชื่นรื่นรมย์อันเกินจำเป็น)

…………..

การพิจารณาก่อนบริโภคใช้สอยปัจจัยเช่นนี้เป็นเครื่องแสดงถึงการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของสงฆ์

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เภสัชมีไว้เพื่อรักษาความป่วยไข้

มิใช่เพื่อโฆษณาสรรพคุณวิเศษ

: ธรรมะมีไว้ปฏิบัติดับกิเลส

มิใช่เพื่อฝอยฟุ้งสู่กันฟัง

#บาลีวันละคำ (2,264)

24-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *