ลานประทักษิณ (บาลีวันละคำ 2,265)
ลานประทักษิณ
ไม่เชื่อ แต่ลบหลู่
อ่านว่า ลาน-ปฺระ-ทัก-สิน
ประกอบด้วยคำว่า ลาน + ประทักษิณ
(๑) “ลาน”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลาน ๑ : (คำนาม) บริเวณที่ว่าง, สนาม, เช่น ลานจอดรถ, ที่สําหรับนวดข้าว; ในทางกีฬาหมายถึง สนามที่เล่นกีฬา, คู่กับ ลู่.”
(๒) “ประทักษิณ”
บาลีเป็น “ปทกฺขิณ” (ปะ-ทัก-ขิ-นะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ, รุ่งเรือง; ว่องไว, ฉลาด, ขยัน) + อิณ ปัจจัย
: ป + ทกฺขฺ = ปทกฺขฺ + อิณ = ปทกฺขิณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเจริญอย่างยิ่ง” “สิ่งอันว่องไวอย่างยิ่ง”
“ปทกฺขิณ” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เมื่อใช้ในรูปประโยค “ปทกฺขิณํ กโรติ” หมายถึง เวียนไปทางขวา, วนขวา, วิธีแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง, ประทักษิณ (to hold [a person, etc.] to one’s right side, to go round so as to keep the right side turned to a person, a mode of reverential salutation)
(2) ชำนาญ, ฉลาด, เรียนเร็ว “(skilful, clever, quick in learning)
(3) มีโชคดี, มีฤกษ์งามยามดี, กลายเป็นดีหรือได้ประโยชน์ (lucky, auspicious, turning out well or favourable)
“ปทกฺขิณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ประทักษิณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประทักษิณ : (คำนาม) การเวียนขวา โดยให้สิ่งที่เรานับถือหรือผู้ที่เรานับถือเป็นต้นอยู่ทางขวาของผู้เวียน. (ส.).”
ลาน + ประทักษิณ = ลานประทักษิณ หมายถึง บริเวณกว้างพอประมาณโดยรอบพระสถูปเจดีย์หรือปูชนียสถาน เป็นที่สำหรับเดินเวียนเพื่อแสดงความเคารพ
ลานประทักษิณโดยปกติอยู่ที่พื้นระดับเดียวกับพระสถูปเจดีย์หรือปูชนียสถานนั้นๆ แต่พระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่อาจทำลานประทักษิณอีกส่วนหนึ่งอยู่ด้านบนตอนใดตอนหนึ่งขององค์พระสถูปเจดีย์ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดทางศิลปะในการกำหนดองค์ประกอบของพระสถูปเจดีย์นั้นๆ
อภิปราย :
ชาวชมพูทวีป เวลาไปหาบุคคลสำคัญ หรือไปสู่สถานที่สำคัญ เมื่อจะกลับก็จะเดินเวียนรอบบุคคลหรือสถานที่นั้น 3 รอบ โดยหันด้านขวาของตนเข้าหาบุคคลหรือสถานที่นั้น เป็นการแสดงความเคารพหรือประกาศว่าบุคคลหรือสถานที่นั้นมีความสำคัญสำหรับตน
ชาวพุทธเอาวัฒนธรรมนี้มาใช้แสดงความเคารพพระสถูปเจดีย์ปูชนียสถาน เรียกว่า “ทำประทักษิณ”
และเนื่องจากเมื่อเดินเวียนตอนกลางคืนต้องจุดเทียนถือไปด้วย จึงเรียกกิริยาแสดงความเคารพโดยการทำประทักษิณเช่นนั้นว่า “เวียนเทียน”
“ลานประทักษิณ” นี้ ตามวัฒนธรรมของชาวพุทธถือเป็นบริเวณที่สำคัญมาก เมื่อจะเข้าไปสู่บริเวณนั้นต้องปฏิบัติตัวตามมารยาทที่ดีงาม เช่น ถ้าเป็นภิกษุสามเณรต้องห่มผ้าเฉวียงบ่า คือห่มลดไหล ไม่สวมรองเท้า ไม่กั้นร่ม ไม่สะพายย่าม สำหรับบุคคลทั่วไปปฏิบัติโดยทำนองเดียวกัน คือแต่งกายสุภาพ ไม่สวมรองเท้า ไม่สวมหมวก ไม่กางร่ม ไม่สะพายกระเป๋า
ปัจจุบัน มารยาทในการแสดงความเคารพต่อปูชนียสถานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุสำคัญคือไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในทางที่ถูกต้อง
กับอีกสาเหตุหนึ่งคืออ้างวัฒนธรรมสากล เช่นอ้างว่า เมื่อแต่งเครื่องแบบหรือแต่งกายชุดสากล การสวมรองเท้าถือว่าเป็นความเรียบร้อย ไม่สวมรองเท้าถือเป็นความบกพร่องและเป็นการแสดงความไม่เคารพ
ถ้าใครแย้ง ก็จะอ้างว่าบุคคลระดับนั้นระดับโน้นก็ทำอย่างนี้ และเมื่ออ้างกันมากเข้านานเข้าก็กลายเป็นความเคยชิน
ในเมืองไทยทุกวันนี้ ผู้คนสวมรองเท้า สวมหมวก กางร่ม สะพายเป้ สะพายกระเป๋า แต่งกายคล้ายชุดชั้นในหรือชุดนอน เข้าไปในปูชนียสถาน เดินเหยียบย่ำไปบนลานประทักษิณอันเป็นสถานที่ซึ่งบรรพบุรุษเคารพนับถือมาแต่โบราณกาล-อย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้าน
บางแห่งเป็นปูชนียสถานสำคัญระดับโลกด้วยซ้ำ แต่ผู้คนสวมรองเท้าย่ำขึ้นไปถึงบนองค์พระสถูปเจดีย์ได้อย่างสนุกสนาน
…………..
โบราณท่านว่า สวมรองเท้าเข้าไปในลานประทักษิณเป็นบาป คนสมัยนี้ไม่เชื่อ
โบราณยกเรื่องพระเจ้าพิมพิสารถูกกรีดฝ่าเท้าเพราะบาปที่สวมรองเท้าเข้าไปในลานประทักษิณ คนสมัยนี้บอกว่าเป็นนิทานโกหก
คนสมัยนี้มีเหตุผลเป็นร้อยเป็นพันข้อที่จะอ้างเพื่อสวมรองเท้า สวมหมวก กางร่ม ฯลฯ เข้าไปในลานประทักษิณ-แม้กระทั่งเวลาเวียนเทียนหรือทำประทักษิณบน “ลานประทักษิณ” นั่นเอง!
เหตุผลข้อเดียวที่ครอบจักรวาลได้หมดคือ-ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อะไรบุญอะไรบาป ศึกษาให้ทราบตั้งแต่ชาตินี้
: เพราะในนรกอเวจีไม่มีที่สารภาพบาปให้ใคร
#บาลีวันละคำ (2,265)
25-8-61