บาลีวันละคำ

อาสนศาลา – หอฉัน (บาลีวันละคำ 2,266)

อาสนศาลา – หอฉัน

หนึ่งใน “ห้าหอ” ที่วัดต้องมี

อ่านว่า อาด-สะ-นะ-สา-ลา

ประกอบด้วยคำว่า อาสน + ศาลา

(๑) “อาสน

บาลีอ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน) หมายถึง (1) การนั่ง, การนั่งลง (sitting, sitting down) (2) ที่นั่ง, บัลลังก์ (a seat, throne)

หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

(๒) “ศาลา

เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา

สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”

อาสน + สาลา = อาสนสาลา แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาเป็นที่นั่ง

ดูตามศัพท์ไม่ได้บ่งว่านั่งทำอะไร แต่ตามเรื่องในคัมภีร์บ่งว่า “อาสนสาลา” เป็นที่ฉันภัตตาหารของภิกษุ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาสนสาลา” ว่า a hall with seating accommodation (โรงฉันหรือหอฉัน)

อาสนสาลา” ในภาษาไทยใช้เป็น “อาสนศาลา” (ศา ศาลา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสนศาลา : (คำนาม) โรงฉันอาหาร (ใช้แก่พระสงฆ์).”

อภิปราย :

อาสน” แปลว่า “ที่นั่ง” แต่ทำไม “อาสนศาลา” จึงหมายถึง โรงฉันอาหารหรือหอฉัน ?

ผู้เขียนบาลีวันละมีความเห็นว่า เดิมทีศัพท์นี้น่าจะเรียกว่า “อสนสาลา” คือคำว่า “อาสน” นั้นเดิมเป็น “อสน” (อะ-สะ-นะ) ไม่ใช่ “อาสน

อสน” (อะ-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = กิน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อสฺ + ยุ > อน = อสน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” หมายถึง การกิน, อาหาร (eating, food)

อสนสาลา” จึงแปลว่า “ศาลาเป็นที่กิน” ใช้สำหรับภิกษุจึงแปลว่า “ศาลาเป็นที่ฉัน” คือ โรงฉันอาหาร หรือที่เรียกเป็นคำไทยว่า “หอฉัน”

อสนสาลา” เรียกไปเรียกมา เสียง “อะ” กลายเป็น “อา” จึงเป็น “อาสนสาลา” ซึ่งต้องแปลว่า “ศาลาเป็นที่นั่ง” แต่เพราะความหมายเดิม “อสนสาลา” เป็นที่เข้าใจซึมซาบกันแล้วว่าหมายถึงโรงฉันอาหาร เมื่อกลายเป็น “อาสนสาลา” จึงต้องแปลลากเข้าหาความว่า “ศาลาเป็นที่นั่งฉันอาหาร” ไปด้วยประการฉะนี้

ขยายความ :

สมัยพุทธกาลเมื่อภิกษุยังไม่มีวัดเป็นที่พำนักแน่นอน เมื่อเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้ภัตตาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็จะหาสถานที่อันสะดวกเช่นใกล้แหล่งน้ำเป็นที่ฉัน ไม่ได้กลับไปฉันที่วัดดังที่เราทราบกันในบัดนี้

ชาวบ้านที่มีศรัทธาปรารถนาจะสงเคราะห์ให้ภิกษุมีความสะดวกด้วยสถานที่ฉันภัตตาหารจึงสร้าง “อสนสาลา” ขึ้นในหมู่บ้านหรือใกล้ๆ หมู่บ้าน จัดให้มีที่นั่งและน้ำไว้พร้อม เป็นที่สำหรับให้ภิกษุเข้าไปทำภัตกิจ ในคัมภีร์จะมีกล่าวถึง “อาสนศาลา” (อสนสาลา) เช่นนี้อยู่ทั่วไป

ครั้นเมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว “อาสนศาลา” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม เป็นที่ให้ภิกษุกลับจากบิณฑบาตแล้วมาฉัน เวลาชาวบ้านต้องการถวายภัตตาหารตอนเช้าหรือถวายน้ำปานะตอนบ่าย ก็จะไปจัดถวายที่ศาลานี้

อาสนศาลา” จึงเป็นที่ชุมนุมของภิกษุและเป็นที่สำหรับชาวบ้านกับพระได้พบปะกันไปด้วยโดยปริยาย มีกิจของสงฆ์ที่จะปรึกษาหารือกันภิกษุก็มักใช้อาสนศาลาเป็นที่ประชุม เข้าลักษณะศาลาการเปรียญหรือศาลาอเนกประสงค์ในสมัยนี้

การสร้าง “อาสนศาลา” หรือ “หอฉัน” ขึ้นในวัดได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน

และ “หอฉัน” จึงเป็น “หอ” ที่สำคัญในบรรดา “ห้าหอ” ที่วัดต่างๆ อันสร้างถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมี กล่าวคือ

(1) หอฉัน

(2) หอสวดมนต์

(3) หอระฆัง

(4) หอกลอง

(5) หอไตร

คำว่า “หอฉัน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

หอฉัน : (คำนาม) อาคารที่สร้างขึ้นในวัด เป็นที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งฉันอาหารและทำวัตรสวดมนต์เป็นต้น.”

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กันไว้กินคนเดียวได้แค่อิ่มท้อง

: แบ่งกินกันฉันพี่น้องได้เลยไปถึงอิ่มใจ

#บาลีวันละคำ (2,266)

26-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *