ประเคน (บาลีวันละคำ 2,275)
ประเคน
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประเคน : (คำกริยา) ถวายของพระโดยวิธียกส่งให้ตามพิธีการที่กําหนดไว้ เช่น ประเคนอาหาร; ส่งให้ถึงมือ (ใช้ในความแดกดัน) เช่น ต้องเอาไปประเคนให้จนถึงที่; (ภาษาปาก) ตี เช่น ประเคนกระบาล ๓ ที.”
…………….
อรรถกถาพระวินัย คือคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อธิบายความในคัมภีร์มหาวิภังค์ตอนขุททกกัณฑ์ แสดงองค์แห่งการประเคนไว้ว่าต้องประกอบด้วยอาการ 5 อย่าง คือ –
(1) ถามมชฺฌิมสฺส ปุริสสฺส อุจฺจารณมตฺตํ โหติ.
= สิ่งของนั้นคนมีกำลังปานกลางพอยกได้
(2) หตฺถปาโส ปญฺญายติ.
= ผู้ถวายอยู่ในระยะห่างพอเอื้อมมือรับส่งได้
(3) อภิหาโร ปญฺญายติ.
= น้อมสิ่งของเข้าไปถวาย
(4) เทโว วา มนุสฺโส วา ติรจฺฉานคโต วา เทติ.
= ผู้ถวายเป็นเทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ ดิรัจฉานก็ได้
(5) ตํ ปน ภิกฺขุ กาเยน วา กายปฏิพนฺเธน วา ปฏิคฺคณฺหาติ.
= ภิกษุรับของนั้นด้วยกายก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 2 หน้า 478
ข้อ (3) “น้อมสิ่งของเข้าไปถวาย” นี่คือกิริยา “ประเคน” ท่านใช้คำบาลีว่า “อภิหาโร”
“อภิหาโร” รูปคำเดิมคือ “อภิหาร” (อะ-พิ-หา-ระ) รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, เหนือ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (หรฺ > หาร)
: อภิ + หรฺ = อภิหรฺ + ณ = อภิหรณ > อภิหร > อภิหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนำไปอย่างดียิ่ง” หมายถึง การนำเข้าไป, การนำไปให้, การให้ (bringing, offering, gift)
ในที่แห่งหนึ่งท่านแสดงความหมายของ “ประเคน” ไว้ว่า “ภิกฺขูนํ หตฺเถ สุปติฏฺฐเปตฺวา” แปลว่า “วางไว้เป็นอันดีในมือของภิกษุ”
“สุปติฏฺฐเปตฺวา” เป็นรูปคำกริยา แปลงรูปเป็นอาการนามคือ “สุปติฏฺฐปน” (สุ-ปะ-ติด-ถะ-ปะ-นะ) รวมทั้งชุดเป็น “ภิกฺขูนํ หตฺเถ สุปติฏฺฐปน” แปลว่า “การวางไว้เป็นอันดีในมือของภิกษุ”
ถ้าเป็นกิริยาของพระ คือ “การรับประเคน” ท่านใช้คำบาลีว่า “ปฏิคฺคหณ” (ปะ-ติก-คะ-หะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + คหฺ (ธาตุ = ถือเอา, รับ, จับ), ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปฏิ + คฺ + คหฺ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น “อน” (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ปฏิ + คฺ + คหฺ = ปฏิคฺคหฺ + ยุ > อน = ปฏิคฺคหน > ปฏิคฺคหณ แปลตามศัพท์ว่า “การรับเฉพาะ” (คือรับเฉพาะของที่เขาให้) หมายถึง การยอมรับ, การรับ, การถือเอา (acceptance, receiving, taking)
“ปฏิคฺคหณ” คำกริยา (กิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) เป็น “ปฏิคฺคณฺหาติ”
ในคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ตอนหนึ่งมีคำว่า “ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ภตฺตตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ” แปลว่า “ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับ ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้”
“ปฏิคฺคณฺหาตุ” กับ “ปฏิคฺคณฺหาติ” และ “ปฏิคฺคหณ” มีรากศัพท์มาทางเดียวกัน
เป็นอันว่า “ประเคน” มี 2 นัย คือ (1) “ประเคน” (2) “รับประเคน”
(1) “ประเคน”
(ก) ถ้าเป็นอาการนาม ใช้คำบาลีได้ 2 คำ คือ (๑) “อภิหาร” (๒) “ภิกฺขูนํ หตฺเถ สุปติฏฺฐปน” (หรือรวบศัพท์เข้าด้วยกันเป็น “ภิกฺขุหตฺถสุปติฏฺฐปน”)
(ข) ถ้าเป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) ใช้คำบาลีว่า (๑) “อภิหรติ” (๒) “ภิกฺขูนํ หตฺเถ สุปติฏฺฐเปติ”
(2) “การรับประเคน”
(ก) ถ้าเป็นอาการนาม ใช้คำบาลีว่า “ปฏิคฺคหณ”
(ข) ถ้าเป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) ใช้คำบาลีว่า “ปฏิคฺคณฺหาติ”
ข้อสังเกต :
พระภิกษุจะบริโภคใช้สอยปัจจัย โดยเฉพาะภัตตาหาร ต้องมีผู้หยิบยื่นส่งให้ถึงมือตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนด เจตนารมณ์แห่งการประเคนก็เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่าของนั้นมีผู้มอบให้แล้วโดยชอบธรรม มิได้หยิบฉวยเอาโดยพลการซึ่งอาจส่อไปในทางไม่บริสุทธิ์ได้
วิถีชีวิตของสงฆ์จึงเป็นวิถีที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง
รายละเอียดเกี่ยวกับการประเคน-การรับประเคน ยังมีอีก ผู้รักและห่วงพระศาสนาควรช่วยกันศึกษาเรียนรู้ต่อไป
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อยากรู้ต้องค้น
: อย่ารอให้คนเอามาประเคน
#บาลีวันละคำ (2,275)
4-9-61