บาลีวันละคำ

สามีจิ (บาลีวันละคำ 2,280)

สามีจิ

ไม่ใช่ “สามี”

อ่านว่า สา-มี-จิ

สามีจิ” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) อีกนัยหนึ่ง สํ ตัดมาจากคำว่า “สมฺมา” (คำนิบาต = โดยชอบ, ถูกต้อง) + อจฺ (ธาตุ = บูชา) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น แล้วทีฆะต้นศัพท์ (สํ > สม > สาม) ลง อี อาคมระหว่างบทหน้ากับธาตุ (สาม + อี + อจ)

: สํ > สม > สาม + อี + อจฺ = สามีจฺ + อิ = สามีจิ แปลตามศัพท์ว่า “การบูชาด้วยดี” “การบูชาอย่างถูกต้อง” หมายถึง การกระทำที่ถูกต้อง, สมควร (right, proper course)

พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) เสนอความเห็นว่า รากเดิมของคำว่า “สามีจิ” มาจาก “สมฺมา” ซึ่งแปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ ( thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

สมฺมา” บาลีเก่ายุคพระเวทเป็น “สมฺยจฺ” (samyac) แจกรูปเป็น “สมีจิหฺ” (samīcīḥ) แล้วกลายมาเป็น “สามีจี” และ “สามีจิ

พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า

สามีจิ : (คำคุณศัพท์) ชอบ, งาม.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

สามีจี : (คำคุณศัพท์) . สดุดี; praise.”

คำที่ขึ้นต้นด้วย “สามีจิ” ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกันในหมู่ชาววัดคือคำว่า “สามีจิกมฺม” (สา-มี-จิ-กำ-มะ) แปลว่า การกระทำที่สมควร, ความเคารพ (proper act, homage)

ในภาษาไทยใช้เป็น “สามีจิกรรม” (สา-มี-จิ-กำ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามีจิกรรม : (คำนาม) การแสดงความเคารพตามธรรมเนียมของพระเณรในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย เช่น ระหว่างพระอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก ระหว่างอาจารย์กับอันเตวาสิก หรือระหว่างผู้แก่พรรษากับผู้อ่อนพรรษากว่า. (ส.; ป. สามีจิกมฺม).”

ดูเพิ่มเติม: “สามีจิกรรม” บาลีวันละคำ (1,068) 21-4-58

คำที่ขึ้นต้นด้วย “สามีจิ” อีกคำหนึ่งที่คุ้นเคยกันดีคือ “สามีจิปฏิปนฺโน” (สา-มี-จิ-ปะ-ติ-ปัน-โน) อันเป็นบทหนึ่งในสังฆคุณ แปลว่า “ผู้ปฏิบัติสมควร” (correct in life)

ขยายความ :

สามีจิปฏิปนฺโน” = ผู้ปฏิบัติสมควร หมายถึงปฏิบัติอย่างไร?

ในคัมภีร์ให้คำจำกัดความไว้ว่า –

(1) หมายถึง ผู้วางตัวปฏิบัติตนชนิดที่สมควรจะได้รับสามีจิกรรมคือความนับถือ (ขอให้นึกถึงบางคน ทั้งตำแหน่งฐานะ ทั้งวัย ทั้งวุฒิ ควรจะได้รับความเคารพนับถือ แต่เพราะวางตัวไม่ดี ปฏิบัติตนไม่เหมาะ กลายเป็นคนที่ไม่มีใครเคารพนับถือ)

(2) หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ถูกต้องสมควรแก่การที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน (บางท่านมีศรัทธาอุตสาหะในการปฏิบัติธรรม แต่แนวทางที่รับมาปฏิบัติไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่ได้บรรลุธรรม)

อภิปราย :

คำว่า “สามีจิกรรม” และ “สามีจิปฏิปนฺโน” นี้ นักคิดบางท่านเห็นคำว่า “สามีจิ” แล้วจินตนาการว่า ก็คือการกระทำหรือการปฏิบัติที่สมควรจะเป็น “สามี” ที่ดีได้ โดยเข้าใจว่า “สามีจิ” มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “สามี” นั่นเอง

ความจริงแล้ว “สามี” กับ “สามีจิ” มีรากศัพท์มาคนละทางกัน

สามี” รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อามี ปัจจัย

: + อามี = สามี

มีสูตรกระจายคำเพื่อแสดงความหมาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”) ว่า –

: สํ  ธนํ  อสฺสตฺถีติ  สามี = สะ คือทรัพย์ ของผู้นั้น มีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สามี = ผู้มีทรัพย์

สามี” (เป็น “สามิ” อีกรูปหนึ่ง) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย (owner, ruler, lord, master)

(2) สามี (husband)

จะเห็นได้ว่า “สามีจิ” ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับ “สามี” แต่ประการใด

เวลาเห็นคำที่ใช้ในภาษาไทย จึงสมควรที่จะสืบสวนให้ถี่ถ้วนก่อน อย่าเพิ่งอธิบายความหมายตามที่ตาเห็นแล้วจินตนาการไปเอง

และโดยเฉพาะคำว่า “สามีจิปฏิปนฺโน” ที่เราสวดสังฆคุณกันอยู่เป็นนิตย์นั้น สมควรที่ศึกษาให้รู้ความหมายที่ถูกต้อง จะได้เคารพนับถือพระได้ถูกพระ

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำดูคล้าย

แต่ความหมายดูเคลื่อน

: คนบางคนดูเหมือน

แต่ใจเชือนไปคนละใจ

#บาลีวันละคำ (2,280)

9-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *