บาลีวันละคำ

จิตตัง ดันตัง (บาลีวันละคำ 2,696)

จิตตัง ดันตัง

เป็นภาษาอะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำสนทนาธรรมกับญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านปรารภว่า ไปฟังพระเทศน์งานศพ พระท่านยกพุทธภาษิตบทหนึ่ง ได้ยินท่านออกเสียงว่า จิต-ตัง ดัน-ตัง สะดุดหูตรงคำว่า “ดันตัง” เพราะเคยฟังมาว่าภาษาบาลีไม่มี ด เด็ก แล้ว “ดันตัง” นี่เป็นภาษาอะไร

ตอบรวบรัดว่า ที่พระท่านออกเสียงว่า “จิตตัง ดันตัง” นั้นเป็นการออกเสียงแบบพระธรรมยุต ที่อนุวัตรตามเสียงเดิมในภาษาบาลี

จิตตัง ดันตัง” ก็คือ “จิตตัง ทันตัง” เขียนแบบบาลีเป็น “จิตฺตํ ทนฺตํ” อ่านตามแบบทั่วไปว่า จิด-ตัง ทัน-ตัง

ดันตัง” ก็คือ “ทันตัง” หรือ “ทนฺตํ” นั่นเอง

พูดเป็นหลักง่ายๆ ว่า ท ทหาร คำบาลี พระธรรมยุตท่านออกเสียงเป็น ด เด็ก

อีกคำหนึ่งที่ควรทราบไว้ด้วยก็คือ พ พาน คำบาลี พระธรรมยุตท่านออกเสียงเป็น บ ใบไม้ เช่น พุทฺธํ (พุทธัง) พระธรรมยุตท่านจะออกเสียงเป็น บุด-ดัง

หมายเหตุ :

ธัง ที่เขียนเป็นคำอ่านว่า “ดัง” นี้ เขียนพออนุโลมเท่านั้น เสียงจริงๆ จะเหมือนคำว่า the ในภาษาอังกฤษซึ่งคนไทยออกเสียงว่า เดอะ แต่เสียงจริงๆ ไม่ใช่ ด เด็ก

คำว่า “จิตตัง ดันตัง” ที่ญาติมิตรท่านนั้นได้ยินพระท่านออกเสียง เป็นพุทธภาษิต ยังมีต่อไปอีกว่า “สุขาวหํ” (สุขาวะหัง) ข้อความเต็มๆ ทั้งวรรค —

เขียนแบบบาลีทั่วไปเป็น “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

เขียนแบบบาลีไทยเป็น “จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง

แปลตามท่านแปลไว้ว่า “จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้

จิตฺตํ” แปลว่า “จิต”

ทนฺตํ” แปลว่า “ที่ฝึกแล้ว”

สุขาวหํ” แปลว่า “นำสุขมาให้”

เป็นคำแปลตรงคำตรงตัว

อภิปราย :

โปรดดูภาพประกอบที่เขียนคำบาลีเป็น –

จิตฺตัง ทันฺตัง สุขาวะหัง

ถ้าเขียนแบบไทย จิตฺตัง – จิต ไม่ต้องมีจุดใต้ ต คือเขียนเป็น จิตตัง

ถ้าเขียนแบบไทย ทันฺตัง – ทัน ไม่ต้องมีจุดใต้ น คือเขียนเป็น ทันตัง

เขียนแบบบาลีจึงจะมีจุดใต้ และไม่ใช้ไม้หันอากาศ

เสียง -อัง เช่น ตัง ใช้นิคหิต คือ -ตํ ไม่ใช่ไม้หันอากาศ ง งู = ตัง

ทนฺตํ” แปลว่า “ที่ฝึกแล้ว” ไม่ใช่ “ที่ฝึกดีแล้ว” คือไม่ต้องมีคำว่า “ดี” เพราะคำบาลีไม่มี “สุ-” ที่แปลว่า “ดี” คือเป็น “ทนฺตํ” ไม่ใช่ “สุทนฺตํ

โปรดดูภาพประกอบอีกภาพหนึ่งที่เขียนคำบาลีแบบไทยเป็น –

จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง

ถ้าเขียนแบบไทย “สุขาวหัง” ต้องสะกดเป็น “สุขาวะหัง” (มีสระ อะ หลัง ว)

สะกดเป็น “สุขาวหัง” ก็จะมีผู้อ่านว่า สุ-ขาว-หัง

คำนั้นอ่านว่า ขา-วะ ไม่ใช่ ขาว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสระ อะ หลัง ว

ต่อไปโปรดดูคำแปล ข้อความในภาพเขียนคำแปลไว้ว่า –

“การฝึกจิตดีแล้วเป็นสุขอย่างยิ่ง”

คำแปลนี้คลาดเคลื่อน

จิตตัง ทันตัง” แปลว่า “จิตที่ฝึกแล้ว” ไม่ใช่ “การฝึกจิตดีแล้ว”

สุขาวะหัง” แปลว่า “นำสุขมาให้” ไม่ใช่ “เป็นสุขอย่างยิ่ง”

คำว่า “เป็นสุขอย่างยิ่ง” คำบาลีคือ “ปรมํ สุขํ” ไม่ใช่ “สุขาวหํ”

ที่นำเรื่องนี้มาเขียน มิใช่มีเจตนาจับผิด ที่ชี้แจงมานี้ก็ไม่ใช่จับผิด เพราะความผิดปรากฏให้เห็นชัดๆ ไม่ต้องไปเที่ยวไล่จับเลย เพียงแต่ชี้ให้ดูว่าผิดอย่างไร

ภาษาบาลีนั้นมีกฎเกณฑ์ที่ละเอียด จะคิดเอาเอง เขียนเอาเอง แปลเอาเองหาได้ไม่ ถ้าทำเช่นนั้น หลักพระธรรมวินัยก็คลาดเคลื่อนหมด

ผู้ที่เขียนถ้อยคำเหล่านี้ไว้ย่อมไม่รู้ว่าคำที่ตนเขียนนั้นผิด ถ้าไม่มีใครชี้ให้เห็น ก็จะเข้าใจไปว่าที่เขียนไว้นั้นถูกต้องแล้ว ยิ่งถ้ามีผู้นำไปอ้างอิงต่อไป ก็จะเป็นการเผยแพร่สิ่งที่ผิดนั้นให้กระจายออกไปอีก

เวลานี้เราพลาดกันตรงนี้มาก คือเห็นการ “ชี้โทษ” เป็นการ “จับผิด” ไปหมด ใครไปทักท้วงอะไรเข้า ก็รุมกันประณามว่า “ดีแต่คอยจับผิดชาวบ้าน” จึงไม่มีใครกล้าเตือนใคร ใครทำอะไรผิดก็ไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขเพราะไม่รู้ว่าผิด

ที่ไม่รู้ว่าผิด ก็เพราะไม่มีใครบอกว่าผิด

ที่ไม่มีใครบอกว่าผิด ก็เพราะเกรงใจกันผิดๆ

ถ้าแก้ค่านิยมผิดๆ นี้ไม่ได้ เราก็มีแต่จะตกต่ำลงไปทุกที

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ

: แต่มนุษย์ที่ไม่ฝึกจิต หมดสิทธิ์ประเสริฐ

#บาลีวันละคำ (2,696)

30-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย