บาลีวันละคำ

พุทธานุสาสนี (บาลีวันละคำ 2,287)

พุทธานุสาสนี

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

อ่านว่า พุด-ทา-นุ-สา-สะ-นี

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + อนุสาสนี

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

(๒) “อนุสาสนี” แยกศัพท์เป็น อนุ + สาสนี

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม, เนืองๆ

(ข) “สาสนี” (สา-สะ-นี) รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน + อี = สาสนี แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน + อี = สาสนี แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” (สาสนี) ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา” (teaching)

(2) คำสั่ง ในทางปกครองบังคับบัญชา (order to rule, govern)

(3) ข่าว คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” หรือ “สาสน์” (message)

ในที่นี้ สาสน > สาสนี หมายถึง คำสอน หรือ การสั่งสอน

อนุ + สาสนี = อนุสาสนี แปลว่า การแนะนำ, การสั่งสอน, การตักเตือน (advice, instruction, admonition)

พุทธ + อนุสาสนี = พุทธานุสาสนี แปลว่า การตามสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, การสั่งสอนเนืองๆ ของพระพุทธเจ้า, การพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า

ขยายความ :

พุทธานุสาสนี” เป็นข้อหนึ่งในปาฏิหาริย์ทั้ง 3 เรียกว่า “อนุสาสนีปาฏิหาริย์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [94] แสดงไว้ดังนี้ –

ปาฏิหาริย์ 3 : การกระทำที่กำจัดหรือทำให้ปฏิปักษ์ยอมได้, การกระทำที่ให้เห็นเป็นอัศจรรย์, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ (Pāṭihāriya: marvel; wonder; miracle)

1. อิทธิปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ (Iddhi-pāṭihāriya: marvel of psychic power)

2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์คือการทายใจ, รอบรู้กระบวนของจิตจนสามารถกำหนดอาการที่หมายเล็กน้อยแล้วบอกสภาพจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้องเป็นอัศจรรย์ (Ādesanā-pāṭihāriya: marvel of mind-reading)

3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ (Anusāsanī- pāṭihāriya: marvel of teaching)

ใน 3 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นเยี่ยม

…………..

อภิปราย :

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักฐานมาถึงเราทุกวันนี้ท่านบันทึกไว้ในคัมภีร์ที่เรียกว่า “พระไตรปิฎก”

ท่านที่หนักในพระธรรม เมื่อจะศึกษาเรียนรู้คำสอนในพระพุทธศาสนานิยมตั้งคำถามว่า เรื่องนี้มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า บางท่านก็นิยมพูดว่า เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงสอน เรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากำลังพูดกันถึงหลักคำสอนที่ถูกต้องแท้จริง

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านนับปริมาณกันมาตั้งแต่โบราณว่ามีถึง 84,000 (แปดหมื่นสี่พัน) พระธรรมขันธ์ คือมากนักหนา จึงยากที่ปุถุชนจะรู้ทั่วถึงได้

ปัจจุบันมีของใหม่ๆ มีแนวคิดและการกระทำแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องแบบนี้มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า หรือถ้าจะอ้างว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงสอน หรือเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอน วิธีที่จะรู้ได้หรือแน่ใจได้ว่าไม่ได้คิดเอาเองก็คือช่วยกันศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ “พุทธานุสาสนี” ไปเรื่อยๆ พร้อมไปกับฝึกปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามสัตติกำลัง จนกว่าจะบรรลุมรรคผล ความสงสัยทั้งปวงก็จะหมดไปเพราะรู้ประจักษ์ได้ด้วยตนเอง

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถึงจะรู้ไม่ทั่วถึงคำสอนของพระทศพล

: ขอให้รู้ทันกิเลสในใจตนก็พอ

#บาลีวันละคำ (2,287)

16-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย