บาลีวันละคำ

กรานกฐิน (บาลีวันละคำ 2,283)

กรานกฐิน

บาลีว่าอย่างไร

อ่านว่า กฺราน-กะ-ถิน

กราน” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ขึง” คือทำให้ตึง

กฐิน” เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง

กรานกฐิน” ก็คือ “ขึงไม้สะดึง” คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง แล้วเย็บจนทำเป็นจีวรสำเร็จพร้อมที่จะครองคือใช้ห่มต่อไป

กรานกฐิน” แปลเป็นภาษาบาลีว่า “กฐินตฺถาร” (กะ-ถิ-นัด-ถา-ระ) ประกอบด้วยคำว่า กฐิน + อตฺถาร

(๑) “กฐิน

บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ (ธาตุ = อยู่ลำบาก) + อิน ปัจจัย

: กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก

คำว่า “กฐิน” ในบาลี :

(1) ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า –

the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes, also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes (ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร, ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร)

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)

ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึง ไม้สะดึง คือกรอบไม้ที่ขึงออกเพื่อเย็บผ้า (a wooden frame)

คำว่า “สะดึง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สะดึง : (คำนาม) กรอบไม้สําหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร, กรอบไม้หรือไม้แบบสําหรับขึงผ้าในเวลาปักดิ้นหรือไหมเป็นต้น, ขอบไม้สําหรับขึงเปล มี ๔ ด้าน.”

(๒) “อตฺถาร” (อัด-ถา-ระ)

รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ถรฺ (ธาตุ = ปูลาด, แผ่ไป) + ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อา เป็น , ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > + ตฺ + ถรฺ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ถรฺ > ถาร)

: อา > + ตฺ + ถรฺ = อตฺถรฺ + = อตฺถรณ > อตฺถร > อตฺถาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาปูลาดไว้โดยยิ่ง” หมายถึง ขึงไป, แผ่ไป (spreading out)

กฐิน + อตฺถาร = กฐินตฺถาร แปลว่า “การขึงไม้สะดึง” หมายถึง การกรานกฐิน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กฐินตฺถาร” ว่า the spreading out, i. e. dedication of the k. cloth by the people to the community of bhikkhus. (การกรานกฐิน, คือ ประชาชนอุทิศผ้ากฐินทานแด่หมู่ภิกษุสงฆ์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรานกฐิน : (คำกริยา) ขึงไม้สะดึง คือ เอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา, ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้น เรียกว่า ผู้กราน, สงฆ์ยกผ้าอันไม่พอแจกกันให้ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นทำตั้งแต่ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครอง เป็นจีวรกฐิน เรียกว่า กรานกฐิน. (อุปสมบทวิธี). (ดู กฐิน). (ข. กราล ว่า ปู, ลาด).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

กรานกฐิน : ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน

พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบสามเดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปที่ได้รับผ้านั้นทำกิจ ตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่สงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา เรียกว่า กรานกฐิน

ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป (เรียกว่าผ้ากฐินมีบริกรรมสำเร็จแล้ว) กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ก็ไม่มี ภิกษุที่ได้รับมอบให้แล้ว จึงทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วแจ้งแก่สงฆ์เพื่ออนุโมทนาต่อเนื่องไปเลย

…………..

กรานกฐิน” ในภาพรวมก็คือการทอดกฐินที่คนไทยรู้จักกันดีนั่นเอง

กิจในเรื่องทอดกฐินมี 2 ส่วน คือ –

(1) ส่วนที่ชาวบ้านนำผ้าไปถวายแก่สงฆ์

(2) ส่วนที่สงฆ์รับผ้านั้นไปกระทำกิจในขั้นตอนต่างๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระวินัย

กรานกฐิน” ในปัจจุบันนี้ ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ผ้ากฐิน” หรือความสามัคคีของสงฆ์อันเป็นมูลเหตุดั้งเดิมของพุทธานุญาต แต่กลับไปให้ความสำคัญกับจำนวนเงินที่จะได้ในการทอดกฐิน จนกระทั่ง “กรานกฐิน” กลายเป็นเทศกาลและกิจกรรมเพื่อการหาเงิน และในที่สุดก็ให้ความสำคัญกับการหาเงินจนกระทั่งลืมนึกถึงความถูกต้องตามพระธรรมวินัยไปเลยก็มี

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ค่านิยมผิดๆ ยากที่จะแก้

: ขอเพียงแค่ช่วยกันรู้ทัน

#บาลีวันละคำ (2,283)

12-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย