บาลีวันละคำ

อิติปิ โส [2] (บาลีวันละคำ 2,282)

อิติปิ โส [2]

หญ้าปากคอก

อ่านเท่าตาเห็นว่า อิ-ติ-ปิ-โส

อิติปิ โส” มีคำบาลีอยู่ 3 คำ คือ “อิติ” “ปิ” “โส

(๑) “อิติ” (อิ-ติ)

เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม

ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย

: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้

(2) ว่าดังนี้

(3) ด้วยประการนี้

(4) ชื่อ

(5) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น)

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)

(๒) “ปิ

เป็นคำจำพวกนิบาต ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “ปิ” ว่า “แม้”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิ” เป็นภาษาอังกฤษไว้หลายคำ ขอยกมาเสนอในที่นี้เพื่อประกอบความรู้ โปรดสังเกตว่าบางข้อใช้คำแปลซ้ำกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อใช้ในบริบทที่ต่างกัน ความหมายก็ย่อมจะต่างกันไปด้วย

(1) also, and also, even (ด้วย, และ, ถึงกระนั้น)

(2) even, just so (ถึงแม้, เช่นนั้นทีเดียว)

(3) but, however, on the other hand, now [continuing a story] (แต่, อย่างไรก็ตาม, อีกอย่างหนึ่ง, บัดนี้ [ดำเนินเรื่องให้ติดต่อกัน])

(4) although, even (แม้ว่า, ถึงแม้ว่า)

(5) perhaps, it is time that, probably (บางที, พอจะ, อาจจะ)

(๓) “โส

เป็นคำสรรพนามชนิด “วิเสสนสัพพนาม” คือสรรพนามที่ขยายคำนามทั่วไป คำเดิมคือ “” (เรียกกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “ตะศัพท์” แปลว่า “นั้น” (คนนั้น เรื่องนั้น สิ่งนั้น ฯลฯ)

” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โส

ในคำว่า “อิติปิ โส” นี้ “โส” เป็นคำขยายคำว่า “ภควา” คือเป็น “โส ภควา” แปลว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

ขยายความ :

อิติปิ โส” เป็นคำขึ้นต้นพระพุทธคุณที่เราสวดกันคุ้นปาก คือ —

อิติปิ  โส  ภควา  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน  สุคโต  โลกวิทู  อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ  สตฺถา  เทวมนุสฺสานํ  พุทฺโธ  ภควาติ.

อิติปิ โส” แปลว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น…

เวลาแปลพระพุทธคุณท่านให้เอาคำว่า “อิติปิ” (แม้เพราะเหตุนี้) ไปควบเข้ากับพุทธคุณทุกบท คือเป็น —

อิติปิ อรหํ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นพระอรหันต์

อิติปิ สมฺมาสมฺพุทฺโธ = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อิติปิ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ไปจนถึง —

อิติปิ ภควา = แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงทรงเป็นพระภควา

อิติปิ โส” จึงเป็นบทแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธคุณบทนั้นๆ (รวม 9 บท) ด้วยเหตุผลอะไร เป็นการจูงใจให้ตามไปศึกษาเสมือนเป็นการ “ท้าพิสูจน์” ให้เห็นประจักษ์แก่ใจว่า ถ้าใครจะเคารพนับถือพระองค์ก็ต้องมีเหตุผลที่เพียบพร้อมว่าเหตุใดจึงเคารพนับถือ เคารพนับถือเพื่อประโยชน์อะไร

นักเล่นคาถานิยมเอาบท “อิติปิ โส” ไปสวดแปลงรูปเป็นต่างๆ เชื่อกันว่าจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์ แต่ส่วนมากมักไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจพระพุทธคุณแต่ละบทว่ามีความหมายอย่างไร และความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดมีได้ด้วยเหตุผลอะไร

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า “อิติปิ โส” เขียน “อิติปิ” แยกกับ “โส

ไม่ใช่ “อิติปิโส

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อจะรักใคร

อาจไม่ต้องถามใจว่าทำไมจึงรัก

: แต่เมื่อจะทำกุศลให้ถูกหลัก

ควรตอบได้ว่าทำไมจึงต้องทำ

#บาลีวันละคำ (2,282)

11-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *